นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมกราคม 2565 กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคม 2565 ที่ตัวเลขทางการออกล่าช้า เพราะเป็นช่วงเวลาที่กรมศุลกากรปรับระบบพิกัดศุลกากรทุก 5 ปี รายละเอียดรายสินค้าจึงยังไม่ครบถ้วน
สำหรับตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคม 2565 เป็น +8% มีมูลค่า 708,312 ล้านบาท ตลาดที่ขยายตัวสูง 10 ลำดับแรกประกอบด้วย 1. อินเดีย (+31.9%) 2. รัสเซีย (+31.9%) 3. สหราชอาณาจักร (+29.7%) 4. เกาหลีใต้ (+26.8%) 5. สหรัฐฯ (+24.1%) 6. แคนาดา (+13.6%) 7. อาเซียน5 (+13.2%) 8. จีน (+6.8%) 9. ลาตินอเมริกา (+5.0%) 10. สหภาพยุโรป (+1.4%)
ปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกเดือนแรกของปี 65 เป็นบวกถึง 8% เพราะ 1.การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ยังเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มคน
2.ภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัวดูได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
3.ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งสหรัฐอเมริกากับภาคเอกชนร่วมมือกันขยายเวลาทำการในวันหยุด และเพิ่มการทำงานในช่วงกลางคืน ทำให้คล่องตัวขึ้นและตู้คงค้างลดลง
โดยเดือนมกราคม 65 เทียบกับปี 64 ที่ขยายตัว 0.3% แต่เดือนมกราคมปี 65 ขยายตัวถึง 8% ซึ่งปีนี้ยังตั้งเป้าไว้ที่ +3-4% คงเดิม
สำหรับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ตนมอบหมายให้ท่านปลัดกระทรวงฯ ประชุมกับภาคเอกชน ซึ่งมีทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์ SMEs และสมาคมอื่นที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุปที่เป็นความเห็นร่วมกัน ดังนี้
1.สถานการณ์ในขณะนี้ การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นข้อยุติ การประเมินผลกระทบที่มีต่อภาวะการค้าการส่งออกและนำเข้าของไทย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบทางตรง
เพราะตลาดรัสเซียเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนการตลาดแค่ 0.38% ของไทย และตลาดยูเครน 0.04% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก เมื่อเจาะรายสินค้าพบว่าถ้าจะมีผลกระทบทางตรงอาจจะกระทบต่อสินค้าประเภทยางรถยนตร์ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องสำอาง ที่ส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นต้น และในอนาคตอาจกระทบต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน และต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือ หากราคาน้ำมันยังสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และหากมีการปิดท่าเรือบางท่าในรัสเซียหรือยูเครน การส่งสินค้าของไทยอาจต้องเปลี่ยนท่าเรือ จะมีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งได้
สำหรับผลกระทบทางอ้อม อาจมีเรื่องราคาพลังงานหรือราคาเหล็กนำเข้า ที่นำมาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น กระป๋องหรือก่อสร้างเป็นต้น และผลกระทบต่อราคาธัญพืชที่นำเข้า เพื่อทำอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลีและ ข้าวโพด เป็นต้น เพราะรัสเซีย-ยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก
ที่ประชุมได้เตรียมมาตรการต่างๆรองรับร่วมกันหากเกิดปัญหา
1.มีการเตรียมบุกตลาดทดแทน เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดแอฟริกา ตลาดลาติน รวมทั้งเตรียมบุกตลาดทดแทนสินค้าของรัสเซียหรือยูเครนที่ไม่สามารถส่งออกไปตลาดสำคัญในโลกได้ จะถือเป็นโอกาสเข้าไปทดแทนตลาดรัสเซียกับยูเครน เช่น มันสำปะหลัง อาจส่งไปจีนแทนข้าวโพดของยูเครนหรือผลิตภัณฑ์ยางในสหรัฐ อาหารสำเร็จรูปทดแทนตลาดรัสเซียยูเครน เป็นต้น
ซึ่งตนมอบให้ท่านปลัดฯ ประสานงานกับภาคเอกชนโดยใกล้ชิดและติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด ทำงานร่วมกันถ้าเกิดปัญหาหน้างานเร่งแก้ปัญหาร่วมกันโดยเร็ว ให้ได้รับผลทางบวกมากที่สุดและทางลบน้อยที่สุด
ขณะนี้ยอมรับว่าอาหารสัตว์ วัตถุดิบอาหารสัตว์ บางส่วนเกิดปัญหาเฉพาะกรณี เช่น กากถั่วเหลืองนำเข้าจากสหรัฐฯ กรมการค้าภายในรายงานว่าเกิดจากภัยแล้งในสหรัฐฯ
ปริมาณกากถั่วเหลืองลดลง ราคาจึงพุ่งสูงขึ้น มีการเรียกร้องให้ปรับอัตราภาษี โดยกระทรวงคลังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าหากปรับภาษีนำเข้าจะกระทบเกษตรกรไทยอย่างไร
อย่างไรก็ตามต้นทุนอาหารสัตว์ในประเทศในกรณีข้าวโพดที่สูงขึ้นมาเพราะราคาข้าวโพดสูงขึ้นถือเป็นความสำเร็จอีกด้านหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯและรัฐบาล ข้าวโพด ราคา 10-11 บาท/กก. ซึ่งเกษตรกรมีความสุข แต่ก็เป็นต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ทำให้ต้นทุนเนื้อสัตว์อาจสูงขึ้น ดังนั้นต้องแก้ปัญหาทั้งสองด้าน ให้สมดุลอยู่ได้ทั้งสองฝ่ายต่อไป
สำหรับประเด็นไข่ไก่
1.ไข่ไก่ช่วงเวลานี้ราคาถูกลง เมื่อติดตามราคาอย่างใกล้ชิดมีแนวโน้มลดลงและทรงตัวแล้ว ราคาเฉลี่ยเมื่อวาน(1 มี.ค.65) ไข่ไก่เบอร์สาม ราคา 3.28 บาท/ฟอง ราคากำกับอยู่ที่ 3.50 บาท/ฟอง ซึ่งในห้างสำคัญที่ติดตามราคาบิ๊กซี เมื่อวานนี้ 3.20 บาท/ฟอง โลตัส 3.30 บาท/ฟอง เป็นต้น ที่สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ประกาศขอเพิ่มราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มจากที่ตกลงไว้ 2.90 บาท/ฟอง ซึ่งสมาคมแจ้งว่าต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น ตนมอบหมายกรมการค้าภายในเจรจา และดูข้อเท็จจริงพบว่าสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานว่าต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แต่ต้องรอมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ว่าต้นทุนทางการเพิ่มเป็นเท่าไหร่และจะมีการพิจารณาราคาหน้าฟาร์มและราคาปลีก เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาด้วยความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายโดยเร็ว