กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2564 ขยายตัวดีขึ้น โดยภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ระดับ 97.99 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.91 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดย 10 เดือนแรก ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.93 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 63.26 ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เดือนตุลาคม 2564 ขยายตัว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากหลายประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก สะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 15-16 อีกทั้งมีการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมได้ดี รวมถึงการออกมาตรการลดค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 อาทิ โครงการคนละครึ่ง, โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น นอกจากนี้ นโยบายการเปิดประเทศของไทยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนและแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ลดลง เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2564 ขยายตัวขึ้นร้อยละ 5.2 ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.9 และในปี 2565 ประมาณการดัชนี MPI ขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลายประเทศได้กลับมาใช้มาตรการ ล็อกดาวน์อีกครั้ง จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 97.99 ขยายตัวร้อยละ 2.91 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการระบายของโรคโควิด-19 โดย 10 เดือนแรก อยู่ที่ระดับ 97.26 ขยายตัวร้อยละ 5.93 อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 64.07 โดย 10 เดือนอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.26 ส่งสัญญาณดีขึ้น จากสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ ที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 93.99 เมื่อเทียบกับดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 93.31 โดยดัชนีแรงงานในอุตสาหกรรมสำคัญหลายกลุ่มเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนยังคงขยายตัว อาทิ ยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 4.14 ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 12.13 เครื่องปรับอากาศขยายตัวร้อยละ 5.3 ส่วนการคลายล็อกดาวน์ของประเทศคู่ค้าหลายประเทศ ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตรถยนต์กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ความต้องการซื้อในประเทศและต่างประเทศเริ่มขยายตัวในหลายสินค้า หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว นอกจากนี้ มีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่
อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งออกของไทยยังมีการขยายตัวที่ดี โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2564 ขยายตัวร้อยละ 13.86 มูลค่า 18,000.50 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัวร้อยละ 12.65 มูลค่า 17,458.30 ล้านเหรียญฯ โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ในส่วนการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 25.39 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 25.52 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ในส่วนของภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทย จากการจัดทำระบบชี้นำและเตือนภัยภาคอุตสาหกรรมของ สศอ. พบว่าในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีสัญญาณของสถานการณ์การผลิตปกติต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดีขึ้น หลังจากที่ส่งผลกระทบให้ดัชนีหดตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสอดรับกับการเปิดประเทศและคู่ค้าหลักขยายตัวได้ดีขึ้นตามคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกและคาดว่าจะส่งสัญญาณปกติจนถึงเดือนธันวาคม 2564 และเดือนมกราคม 2565
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนตุลาคม 2564
รถยนต์และเครื่องยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.02 จากกลุ่มสินค้ารถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนรถยนต์เริ่มคลี่คลายและกลับมาผลิตเป็นปกติประกอบกับผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้นจากมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้ตลาดในประเทศและตลาดส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.41 ตามความต้องการสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ในตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก, เซิร์ฟเวอร์รถยนต์ และอุปกรณ์ Smart home เป็นต้น
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.26 จากกลุ่มสินค้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซินออกเทน 91 เป็นหลัก จากการเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้วในปีนี้ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการหยุดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นบางหน่วย
เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36.17 จากกลุ่มสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยไม้ และเครื่องเรือนทำด้วยโลหะ เป็นหลักตามคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะลูกค้าจากอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนตลาดในประเทศได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยโลหะจากห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ เพิ่มขึ้น
ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.88 จากกลุ่มสินค้ายางแท่ง ยางแผ่น และยางรัดของ เป็นหลักจากคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศจีน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย