กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าว “รายคดีสำคัญ” พร้อมเปิดปฏิบัติการกวาดล้างยึดทรัพย์และทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ 3 จังหวัด เชียงใหม่ –นนทบุรี และกรุงเทพฯ จำนวน 13 จุด ยึดทรัพย์มูลค่ากว่า 1,205 ล้านบาท
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาล โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งการให้ดีอี เร่งปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ พร้อมเน้นย้ำการทำงานใกล้ชิดร่วมกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างเด็ดขาด โดยได้จัดตั้งศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 เพื่อให้เป็น One Stop Service แก้ปัญหาออนไลน์แก่ประชาชน โดยให้บริการ 24 ชั่วโมง ตลอดจนมี War-room ในการติดตามสถานการณ์ สั่งการปฏิบัติการป้องกันปราบปรามโจรออนไลน์อย่างทันเวลา รวมทั้งการบูณาการความร่วมมือด้านการสืบสวนสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมออนไลน์และขยายผลไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการติดตามทรัพย์สินให้กับผู้เสียหาย ทั้งนี้จากความร่วมมือกันทำงานอย่างเข้มข้น ได้นำมาสู่นำมาสู่การจับกุมคดีสำคัญ และดำเนินการผู้กระทำความผิด และคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายได้เป็นจำนวนมาก ดังนี้
–เตือนข่าวปลอม อย่าแชร์! “ปตท. ตัดน้ำตัดไฟไม่ให้ใช้ห้องน้ำในสถานีบริการ”
คดี นางสาวธารารัตน์ฯ กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน มีพฤติการณ์กระทำความผิดในลักษณะ ร่วมกันกระทำความผิดเป็นขบวนการ ทั้งในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยใช้วิธีการโทรศัพท์สุ่มเข้ามาหลอกลวงประชาชน แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ และหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน นอกจากนี้ ยังมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการโพสต์ข้อความผ่าน Facebook เพื่อชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเป็นเงินสกุลหยวนในอัตราที่ถูกกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงิน โดยมีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก
จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มของนางสาวธารารัตน์ฯ กับพวก มีการโอนเงินมากกว่า 3 พันล้านบาท ไม่สอดคล้องกับอาชีพรายได้ รวมทั้งกลุ่มผู้กระทำความผิดดังกล่าวมีการโอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากของกลุ่มผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ และทำธุรกรรมเพื่อปกปิด อำพราง ซ่อนเร้น หรือยักย้ายถ่ายเทเงินและแปลง
สภาพเป็นทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ณ สำนักงาน ปปง. คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมไว้ชั่วคราว มูลค่าประมาณ 924 ล้านบาท
สำหรับปฏิบัติการเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ ทางสำนักงาน ปปง. ร่วมกับตำรวจไซเบอร์ลงพื้นที่ตรวจค้นและยึดทรัพย์เครือข่ายของผู้กระทำความผิดในรายคดีดังกล่าว เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ จำนวน 4 จุด นนทบุรี จำนวน 2 จุด และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 จุด รวม 13 จุด ผลจากการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินผลการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินเพิ่มเติมจำนวนหลายรายการ รวมมูลค่าประมาณ 161.5 ล้านบาท และตรวจพบบ้านพักหรู จำนวน 2 หลัง รวมมูลค่าประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งได้ยึดไว้และดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ในคดีความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระในคดีรายอื่นๆ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ โดยให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายในรายคดีที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานปปง. ภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามแต่คดี โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th)
“กระทรวงดีอี และพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มีความมุ่งมั่นที่จะกวาดล้างอาชอาญกรรมทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบ ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซิมผี-ซิมม้า พนันออนไลน์ หลอกโหลดแอป และอื่น ๆ เพื่อลดความเสียหายและลดความเสี่ยงให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน รวมทั้งหามาตรการใหม่ๆ เพื่อยับยั้งการทำงานของมิจฉาชีพด้วย และบูรณาการการทํางานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เมื่อได้รับแจ้งจาก ผู้เสียหาย” ประเสริฐ กล่าว