ทปอ.ไม่หวั่นหุ่นยนต์ ไม่หวั่นเทคโนโลยี “ดิสรัปชั่น” ชูแนวคิดปรับทิศทางมหาวิทยาลัยในอนาคต 5 ข้อ ปั้นบัณฑิต สู่ตลาดแรงงาน

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เดินหน้าภารกิจพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “การศึกษา 4.0” พร้อมปรับทิศทางมหาวิทยาลัยในอนาคตได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยต้องเป็นแหล่งเรียนรู้รอบด้าน จะต้องเน้นการสร้างทักษะ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง 2. ต้องเตรียมบุคลากรสำหรับตลาดงานที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคต 3. การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ฝึกให้นักศึกษาคิด และถาม เพื่อนำความรู้ที่ได้เป็นฐานความคิดสร้างสิ่งใหม่ ๆ  4. หลักสูตรต้องยืดหยุ่นสามารถตอบโจทย์เฉพาะบุคคลได้ และ 5. ควรร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันระดับโลกเพื่อแข่งขันในเวทีโลก และมุ่งเน้นสร้างคนคุณภาพในด้านนวัตกรรม และเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาแบบ STEMs เป็นพิเศษ  ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวแก้ปัญหาบัณฑิตในอนาคตที่จะถูกแทนที่ด้วย Automation (ภาวะอัตโนมัติ) และ AI (ปัญญาประดิษฐ์) อย่างรวดเร็ว หรือที่เรียว่าการ “ดิสรัปชั่น” เพราะการเรียนการสอนแบบเดิมจะไม่สามารถผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ของโลกได้อย่างทันท่วงทีอีกต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์  อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)   เปิดเผยว่า  ในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นความท้าทายของสังคมในศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยมีความเสี่ยงของแรงงานที่จะถูก Automation (ภาวะอัตโนมัติ) และ AI หรือ Artificial Intelligence (ปัญญาประดิษฐ์) เข้ามาแทนที่ หรือแนวโน้มเทคโนโลยี “ดิสรัปชั่น” เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มรูปแบบ ซึ่งประเทศไทยและโลกปัจจุบันเข้าอยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบหักศอก (Rapidly Change) แต่หากเราไม่ปรับตัว หรือปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็ไม่จะไม่สามารถแข่งขันกับผู้อื่นหรือประเทศอื่นๆ ได้ ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันหลักในการผลิตบุคคลากรป้อนสู่ตลาดแรงงาน จึงต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการศึกษา เพื่อรองรับกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ซึ่งได้แก่

1.มหาวิทยาลัยไม่ใช่สถานที่สอนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นแหล่งเรียนรู้รอบด้าน จะต้องเน้นการสร้างทักษะ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง

2.มหาวิทยาลัยต้องมีวิสัยทัศน์เตรียมบุคลากรสำหรับตลาดงานที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

3.เน้นการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Demand-side) กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้และอยากเป็น (Passion-Driven) ด้วยตนเอง ฝึกให้นักศึกษาคิด และถาม เพื่อนำความรู้ที่ได้เป็นฐานความคิดสร้างสิ่งใหม่ ๆ

4.หลักสูตรต้องยืดหยุ่นสามารถตอบโจทย์เฉพาะบุคคลได้ (Personalized) ในอนาคตการศึกษามีทางเลือกมากมาย ทำให้คนมุ่งเรียนในสิ่งที่อยากรู้ อยากเรียน และอยากเป็นได้ทันทีและทำในสิ่งนั้นได้ดีที่สุด

5.มหาวิทยาลัยไทยควรร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันระดับโลก เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ฯลฯ เพื่อยกระดับคุณภาพสถาบันศึกษาให้มีศักยภาพในระดับนานาชาติและสามารถแข่งขันในเวทีโลก

ทั้งนี้ นโยบายก้าวต่อไปด้านหลักสูตรการศึกษา ของ ทปอ. คือ จะต้องมุ่งเน้นในเรื่องของ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)  หรือ STEMs เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานในภาคธุรกิจที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งในอนาคตงานในลักษณะที่ทำประจำซ้ำได้ (Routine) กำลังจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัติโนมัติ นอกจากนี้หากคนมีความรู้ทางคณิตศาสตร์ไม่ดีพอ ก็อาจจะมีปัญหาในการเรียนรู้และขาดทักษะที่จำเป็นในการแข่งขันในตลาดที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยเหตุนี้ ทปอ.จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นสร้างคนคุณภาพในด้านนวัตกรรมให้มาก และเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาแบบ STEMs เป็นพิเศษ ตลอดจนการพัฒนาในเชิงโครงสร้าง โดยเปลี่ยนจากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศ ทั้งเชิงชีวภาพ และเชิงวัฒนธรรม ไปสู่ความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน และเปลี่ยนจากโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแบบเพิ่มมูลค่า (Value Added) เป็นการสร้างมูลค่า(High Value) แทน เพื่อพัฒนาอนาคตใหม่ของประเทศไทยให้ ก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลางให้ได้  ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน มีบทบาทในการสร้างบุคลากรของชาติซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ให้เตรียมพร้อมสู่ตลาดแรงงาน จึงต้องเป็นสถาบันหลักในการสร้างคนคุณภาพเพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ โดยขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 “การศึกษา 4.0 :ผู้เรียนสร้างนวัตกรรมได้” เพราะคนคือหัวใจของการพัฒนาศักยภาพของประเทศ ซึ่งแนวทางที่ ทปอ. ยึดถือร่วมกัน ประกอบไปด้วยวิสัยทัศน์ ดังนี้  1. การทลายความไม่เสมอภาคทางการศึกษา (Equity)   2. คุณภาพการศึกษา (Quality)   3. การก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคม (Relevance)  และ 4. การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม (Demand Research and Innovation)

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนประชาสัมพันธ์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หมายเลขโทรศัพท์ 02-354-5150-2 หรือเข้าไปที่ https://www.facebook.com/cuptthailand/

Related Posts