กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยบนทางหลวงชนบทรองรับการปรับความเร็วจำกัดไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อเป็นการปรับพฤติกรรมการขับขี่และส่งเสริมให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะ
ปฏิบัติตามกฎจราจร เพิ่มความมั่นใจในการใช้รถใช้ถนน อันจะส่งผลให้ลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ ตามกฎกระทรวงคมนาคมและเป็นไปตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
จากที่กระทรวงคมนาคมได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2546 โดยกำหนดบังคับแก่ทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่มีทางเดินรถ ซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องจราจรขึ้นไป มีเกาะกลางถนนแบบกำแพง และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ตามที่ผู้อำนวยการทางหลวงประกาศ โดยกำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมีรายละเอียดตามที่กฎกระทรวงกำหนด ทั้งนี้ ในส่วนของถนนที่อยู่ในความดูแลของ ทช. ซึ่งได้พิจารณาแล้วว่ามีความพร้อม เป็นเส้นทางหลักที่รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย จำนวน 2 สายทาง ได้แก่
ถนนทางหลวงชนบทสาย นบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) ระหว่าง กม.ที่ 17+000 ถึง กม.ที่ 42+200 ระยะทาง 25.2 กิโลเมตร และถนนทางหลวงชนบทสาย นบ.1020 (ถนนนครอินทร์) ระหว่าง กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 12+400 ระยะทาง 12.4 กิโลเมตร รวมระยะทางดำเนินการ 37.6 กิโลเมตร โดย ทช.ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 โครงการ ดังนี้
- งานติดตั้งเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง งานป้ายจราจร, งานป้ายจราจรแขวนสูง, งานติดตั้งระบบขนส่งอัจฉริยะ, ระบบควบคุมการใช้ช่องจราจรบนทางหลวง, ระบบควบคุมการใช้ความเร็วจำกัดแต่ละช่องจราจร, ระบบแนะนำการใช้ความเร็วแบบปรับเปลี่ยนได้ และระบบสำรวจข้อมูลสภาพอากาศ ใช้งบประมาณ
ในการดำเนินงาน 92.960 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2565 นี้ - งานก่อสร้างติดตั้งกำแพงคอนกรีตแบบ Single Slope Barrier บนทางหลวงชนบท ใช้งบประมาณ
ในการดำเนินงาน 157.500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2566
เมื่อทั้งสองโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยในการปรับพฤติกรรมการขับขี่และสื่อสารให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามที่กฎกระทรวงกำหนดความเร็วฯ พ.ศ. 2546 กำหนดไว้ ซึ่งนอกจากจะกำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่องจราจรขวาสุดยังกำหนดให้ใช้ความเร็ว ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้การติดตั้งอุปกรณ์อำนวย
ความปลอดภัยนั้น ยังช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุในลักษณะยานพาหนะเสียหลักข้ามช่องจราจรได้เป็นอย่างดีอีกด้วย สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการร่วมกันภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) เป็นกองทุนสร้างเสริมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนที่มีภารกิจในการเสริมสร้างมาตรฐานระบบการขนส่งทางถนนอย่างปลอดภัย เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานทั้งหมด