Categories: FinanceNews Update

ธปท.คาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปีนี้ และมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงหลังของปี อัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือนมกราคมปรับเพิ่มมาที่ร้อยละ 3.23 จาก (1) ราคาพลังงานเป็นสำคัญโดยราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นถึงเกือบร้อยละ 30 เทียบกับปีที่แล้ว และ (2) อาหารสด เช่น เนื้อหมู โดยจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเป็นการปรับขึ้นราคาสินค้าเฉพาะบางหมวด ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ สินค้าพร้อมกันเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ มีสินค้าจำนวนมากเกือบ 200 รายการในตะกร้าเงินเฟ้อที่ราคาที่คงที่หรือลดลง สำหรับเงินเฟ้อในระยะต่อไป แนวโน้มของราคาน้ำมันรวมถึงการคลี่คลายของปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ตู้คอนแทนเนอร์ และเนื้อหมู จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงได้ อีกทั้งกำลังซื้อที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%

ธปท. จะติดตามภาวะและแนวโน้มเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ นโยบายการเงินยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นลสำคัญ ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว จะทำให้เกิดการจ้างงาน ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นอกจากนี้ ธปท. ได้ออกมาตรการการเงินรูปแบบต่าง ๆ เพื่อลดภาระหนี้ แก้หนี้เดิม เติมเงินใหม่ให้กับประชาชน เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องในระยะข้างหน้า  
Frequently Asked Questions
Media Briefing “ภาวะและแนวโน้มเงินเฟ้อ”
วันศุกร์ที่ 11 ก.พ. 2565

  1. ประชาชนเห็นราคาสินค้าแพงขึ้นมาก แบบนี้เรียกว่าเงินเฟ้อสูงหรือไม่?
    • การขึ้นราคาของสินค้าบางรายการตั้งแต่ต้นปี เช่น ราคาน้ำมันขายปลีก อาหารสด อาหารนอกบ้าน เครื่องปรุงอาหาร เกิดจากปัจจัยเฉพาะของหมวดสินค้านั้นๆ (sector specific factor) เช่น ปัญหาในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และอุปทานหมูที่ลดลงจากโรคระบาด ขณะที่เงินเฟ้อเป็นการวัดการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการโดยรวม ครอบคลุมสินค้ามากกว่า 400 รายการ และเป็นการเฉลี่ยราคาไปตามสัดส่วนของรายจ่ายที่ผู้บริโภคใช้ซื้อสินค้าแต่ละรายการ โดยการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่น่ากังวลคือการที่ราคาสินค้าจำนวนมากปรับสูงขึ้นยกแผงไปด้วยกัน
    • ในช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาพบว่า จำนวนรายการสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 56% ของตะกร้าเงินเฟ้อไทย ขณะที่สินค้าเกือบ 200 รายการในตะกร้าเงินเฟ้อมีราคาคงที่หรือลดลง ตัวเลขเงินเฟ้อไทยที่สูงขึ้นจึงมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าบางประเภท ไม่ใช่การปรับสูงขึ้นจากราคาสินค้าในวงกว้าง นอกจากนี้ สินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติมีประมาณ 10% ของตะกร้าเงินเฟ้อไทยซึ่งต่างจากในสหรัฐฯ ที่มีสูงถึง 35%
    • นอกจากนี้ จะเห็นว่าสินค้าที่มีการขึ้นราคานั้นเป็นสินค้าจำเป็นและคนซื้อบ่อย ๆ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ น้ำมันพืช เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภคเห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เพิ่มขึ้นบ่อยครั้งและทำให้รู้สึกว่าขึ้นราคาบ่อยครั้ง เมื่อเทียบกับสินค้าที่นาน ๆ คนซื้อที เช่น ทีวี หม้อหุงข้าว ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับรู้ถึงราคาที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งนัก
  2. ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น น่ากลัวหรือยัง?
    • ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค แต่ผลกระทบดังกล่าวจะมีมากหรือน้อย ส่วนหนึ่งขึ้นกับรายได้ของผู้บริโภคแต่ละคน รวมถึงลักษณะสินค้าและปริมาณที่บริโภคว่าเป็นสินค้าที่ราคาแพงขึ้นมากหรือไม่
    • โดยปกติแล้วราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลายครั้งราคาปรับสูงขึ้นชั่วคราวหรือเฉพาะสินค้า เช่น ในกรณีสินค้าขาดตลาดจากน้ำท่วมหรือโรคระบาด ราคาจะปรับลดลงเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ในทางตรงข้ามการปรับขึ้นราคาที่น่ากังวลจะมีลักษณะเป็นวงกว้างในหลายสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยมากเกิดจากความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคและกำลังซื้อที่อยู่ในระดับสูง (demand-pull) ทำให้มีความต้องการสินค้าอย่างมากขณะที่ปริมาณสินค้าที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการซื้อของผู้บริโภค
    • การเปลี่ยนแปลงของราคาที่ควรต้องเฝ้าระวัง คือ (1) ราคาเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้าพร้อม ๆ กัน (2) ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนาน และ (3) ราคาที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อพฤติกรรมการตั้งราคาและมุมมองอัตราเงินเฟ้อในอนาคต เพราะหากผู้บริโภคมีมุมมองว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะเพิ่ม อาจยิ่งเพิ่มความต้องการซื้อสินค้าต่าง ๆ ตั้งแต่วันนี้และทำให้ราคาเพิ่มขึ้นทันทีในวันนี้ และการเพิ่มขึ้นของราคาในวันนี้ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคมองว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะเพิ่มขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ในมุมมองของผู้ประกอบการ หากคาดว่าราคาสินค้าและวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นในอนาคต อาจมีการกักตุนวัตถุดิบล่วงหน้าซึ่งอาจทำให้ราคาวัตถุดิบปัจจุบันปรับขึ้น หรืออาจมีการขึ้นราคาสินค้าล่วงหน้าเผื่อต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งทั้ง 2 ทางนี้ทำให้ราคาสินค้าและวัตถุดิบปัจจุบันเพิ่มขึ้น และยิ่งทำให้ผู้ประกอบการคิดว่าราคาในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ มุมมองที่ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอาจทำให้ลูกจ้างเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม ซึ่งหากนายจ้างเพิ่มค่าจ้างให้จริง ผู้ประกอบการอาจต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีและผู้บริโภคยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้านั้น ๆ
    • ในปัจจุบัน ยังไม่เห็นสัญญาณการขึ้นราคาในหลายหมวดสินค้าพร้อม ๆ กัน โดยข้อมูลล่าสุดเดือน ม.ค. 2565 มีการเพิ่มขึ้นของสินค้ากลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและเนื้อสัตว์เป็นหลัก ขณะที่สินค้าและบริการอีก 188 รายการจาก 430 รายการมีราคาทรงตัวหรือลดลง แต่ยังต้องติดตามต่อเนื่องว่าจะมีการเพิ่มขึ้นในสินค้าประเภทใดอีกบ้างในระยะต่อไป
    • การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่ทำให้ปริมาณสินค้าในตลาดลดลง เช่น เนื้อหมู หรือจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ราคาน้ำมันและต้นทุนการขนส่งทางเรือ ซึ่งในปัจจุบัน ธปท. คาดว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นสูงจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ไม่ได้เพิ่มต่อเนื่องไปถึงปีหน้า โดยอุปทานหมูคาดว่าจะเริ่มคลี่คลายในเวลา 10 เดือน ส่วนปัญหาปัจจัยการผลิตชะงักงันในต่างประเทศ เช่น การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ จะทยอยคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งจะทำให้แรงกดดันด้านราคาทยอยลดลง
    • ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการคาดการณ์เงินเฟ้อของหลายกลุ่ม เช่น ผู้บริโภค ธุรกิจ นักวิเคราะห์ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 2.1 และ 1.0 ตามลำดับ แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย สะท้อนว่าประชาชนยังมองว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแค่ชั่วคราว โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง แต่ต้องติดตามต่อไปว่าหากเศรษฐกิจและกำลังซื้อฟื้นตัวเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการจะตั้งราคาสินค้าสูงขึ้นหรือไม่และมากน้อยเพียงใด
  3. เงินเฟ้อสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแต่ละกลุ่มเท่ากันหรือไม่? เพราะอะไร?
    • แม้ว่าราคาที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนทุกคน แต่ผู้บริโภคแต่ละคนอาจจะรับรู้ถึงผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน
    • ผู้บริโภคอาจจะเผชิญกับผลกระทบของการขึ้นราคาที่แตกต่างกันขึ้นกับลักษณะการบริโภคสินค้า เช่น น้ำมันพืชบางประเภทที่ราคาเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคน้ำมันพืชนั้นจะรู้สึกถึงผลของราคามากกว่าผู้บริโภคน้ำมันพืชประเภทอื่นที่ไม่ได้มีการขึ้นราคา หรือขึ้นราคาไม่มากเท่า
    • ในขณะเดียวกัน ประชาชนกลุ่มที่บริโภคสินค้าและบริการที่มีการขึ้นราคาในสัดส่วนที่สูงกว่า จะรับรู้ถึงผลกระทบของราคาที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคนกลุ่มอื่น อาทิ หากราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับสูงขึ้น กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยซึ่งมีสัดส่วนการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มถึง 45% เมื่อเทียบกับกลุ่มครัวเรือนรายได้สูงที่ 26% จะได้รับผลกระทบมากกว่า
  4. แบงก์ชาติมีบทบาทในการช่วยเรื่องราคาสินค้าหรือเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างไร?
    • เงินเฟ้อไทยที่เพิ่มสูงในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากปริมาณสินค้าบางประเภทมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งแตกต่างจากเงินเฟ้อสูงในต่างประเทศที่เกิดขึ้นเพราะความต้องการสินค้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวได้ดีมากและเกินกว่าระดับก่อนที่จะเกิด COVID-19
    • ธปท. จะติดตามภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ นโยบายการเงินยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว จะทำให้เกิดการจ้างงาน ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นในปัจจุบันขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นอกจากนี้ ธปท. ได้ออกมาตรการการเงินรูปแบบต่าง ๆ เพื่อลดภาระหนี้ แก้หนี้เดิม เติมเงินใหม่ให้กับประชาชน เพื่อเสริมให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
BizTalk NEWS

Recent Posts

vivo V50 เปิดตัวแล้ว มาพร้อมกล้อง ZEISS 50MP ในราคาเริ่มต้น 15,999 บาท

เปิดตัว vivo V50 สมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดในตระกูล V Series ที่มาพร้อมคอนเซปต์ "ถ่ายที่รักอย่างโปร" ชูจุดเด่นกล้อง ZEISS ความละเอียด 50 ล้านพิกเซลรอบด้าน อัดแน่นด้วยฟีเจอร์ AI…

3 hours ago

LINE MAN เผยเทรนด์ “ชาไทย Specialty” แรงจัด! ยอดสั่งพุ่ง 81% ร้านใหม่ผุด 205%

กระแสชาไทย Specialty ฟีเวอร์! ข้อมูลจาก LINE MAN เผยให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาด "ชาไทย Specialty" ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่มียอดสั่งซื้อทะยาน 81% ร้านใหม่ตบเท้าเปิดตัวเพิ่มขึ้นถึง…

6 hours ago

China Unicom to Blanket 300+ Cities with 5G-Advanced by 2025, While Thailand Leads APAC’s 5G Revolution

China Unicom has launched its ambitious 5G-Advanced Action Plan, setting the stage for a significant…

8 hours ago

AIS ผนึกกำลังพันธมิตรภาครัฐ เดินหน้าจัดระเบียบสายสื่อสาร ถนนวิทยุ สร้างมหานครสวยงาม ปลอดภัย

AIS จับมือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), กสทช., กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระดมทีมวิศวกรเข้าดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าและนำลงใต้ดิน บริเวณถนนวิทยุ ตั้งแต่แยกวิทยุ ถึงแยกเพลินจิต ทั้งสองฝั่ง ตลอดแนวถนน การดำเนินงานในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยของประชาชนและการลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ…

8 hours ago

“Trumpism 2.0” กระแทกโลก! สกสว. ชี้ไทยต้องเร่งเครื่อง BCG Economy ดันนวัตกรรมรับมือ ตั้งเป้าปั้นไทยเป็นฮับเทคโนโลยีอาเซียน ดึงต่างชาติร่วมลงทุน

ในยุคที่ "Trumpism" กำลังเขย่าวงการโลกอีกครั้ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดเวทีเสวนา “Trump 2.0 วิกฤตหรือโอกาสของระบบ ววน. ไทย” เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากนโยบาย "America…

8 hours ago

องค์กร 61% กังวลความปลอดภัยคลาวด์ ฟอร์ติเน็ตแนะใช้แพลตฟอร์มรวมศูนย์-เสริมทักษะรับมือภัยคุกคามยุคใหม่

ฟอร์ติเน็ต เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดจากรายงานสถานะความปลอดภัยระบบคลาวด์ประจำปี 2568 (2025 State of Cloud Security Report) ซึ่งจัดทำโดย Cybersecurity Insiders ชี้ให้เห็นว่า องค์กรส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับความท้าทายในการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปฏิบัติตามกฎระเบียบและการปกป้องข้อมูล…

8 hours ago