นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2565 หรือ UN Global Compact Leaders Summit 2022 ภายใต้แนวคิด “The world we want”
ซึ่งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) และทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Country Team Thailand) จัดขึ้น เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนในเวทีโลก รวมพลผู้นําความยั่งยืน ทั้งในและต่างประเทศจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact Local Networks อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซียและบรูไน มุ่งสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เร่งความก้าวหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและข้อตกลงปารีส เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยมีการถ่ายทอดสดจากไทยไปทั่วโลก ที่มีผู้ร่วมงานกว่า 10,000 คน โดยการประชุมดังกล่าวชู 3 วาระสำคัญ ได้แก่ ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาทางสังคมที่ครอบคลุม ยกระดับ SMEs ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สู่อาเซียน และขยายผลไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
–Traveloka เปิดตัว International Travel Fair ในไทย เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นการท่องเที่ยวทั่วโลก
–ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ยันไม่กระทบการให้บริการผู้โดยสาร
อาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา (H.E. Armida Salsiah Alisjahbana) รองเลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) กล่าวเปิดการประชุมว่า เครือข่ายธุรกิจเพื่อความยั่งยืนแห่งคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESBN) ซึ่งประกอบด้วย ผู้นำจากภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาความร่วมมือเพื่อปฏิรูปธุรกิจสีเขียวแห่งเอเชียแปซิฟิก นำสู่แผนปฏิบัติการของภาคธุรกิจในการดูแลและบรรเทาภาวะโลกร้อน แสดงถึงความพร้อมในการเป็นผู้นำความยั่งยืนที่จะขยายผลไปยังระดับภูมิภาค โดยเครือข่ายธุรกิจเพื่อความยั่งยืนแห่งคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESBN) จะเป็นผู้นำในการเร่งสร้างเศรษฐกิจและสังคมสีเขียวให้แก่ภูมิภาคนี้
แซนด้า โอเจียมโบ (Sanda Ojiambo) ผู้ช่วยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UN Global Compact กล่าวว่า จุดประสงค์สำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือมุ่งชักชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายให้ใส่ใจการวัดความก้าวหน้าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจัดการกับช่องว่างและความรู้ ตลอดจนทรัพยากรและเงินทุน รวมถึงเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างความร่วมมือต่างๆ ผ่านการสร้างเครือข่ายผู้นำระดับโลก โดยโครงการในวันนี้เป็นผลจากความพยายามร่วมกันของเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact ในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน และไทยทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ การทำงานของ UN Global Compact นั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก โดยตั้งเป้าที่จะเร่งสร้างผลกระทบเชิงบวกโดยรวมของธุรกิจและส่งมอบ SDGs ผ่านบริษัทต่างๆ ที่มีความรับผิดชอบ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติร่วมเป็นเจ้าภาพจัดเวทีระดับเอเชียแปซิฟิก UNGC Leaders Summit 2022 : Sustainability in ASEAN โดยนายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและผู้นำธุรกิจไทย ร่วมกับ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต และนายลี จอร์จ แลม (Lee George Lam) Chair of the ESCAP Sustainable Business Network (ESBN) ที่ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ พร้อมกระตุ้นการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคอาเซียนอย่างจริงจัง เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักการพัฒนาความยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาแนวทางร่วมกันในการเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่งเป็นสิ่งที่ UN Global Compact มองว่าเป็นวาระสำคัญของโลกที่ต้องได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากนางสาวกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นผู้กล่าวปิดวงเสวนา
นพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ขณะนี้อาเซียนและทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาถูกท้าทายจากความยากลำบากอย่างหนักหน่วง แต่ทว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ การระบาดใหญ่ของโควิด ความขัดแย้งในยูเครน ผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานและส่งผลต่อสินค้าโภคภัณฑ์ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั้งหมดกระทบต่อกันเป็นห่วงโซ่ นำโลกเข้าสู่มรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่ หรือ Perfect Storm สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนให้เราได้คิดทบทวน และเร่งเดินเครื่องเรื่องของความยั่งยืนในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบทบาทความรับผิดชอบของภาคธุรกิจทั่วโลกที่จะต้องออกมาร่วมกำหนดวาระความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
นพปฎล กล่าวต่อว่า UN Global Compact จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทของภาคธุรกิจที่พร้อมมีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเด็นด้านความยั่งยืนในมิติต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษทางอากาศและทางน้ำ รวมไปถึงประเด็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งภาคธุรกิจมีศักยภาพที่จะเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ธุรกิจจะต้องเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา โดยขณะนี้จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจต่างๆ กำลังเข้ามามีส่วนร่วมตามเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ทั้งในด้านการจัดการด้านพลังงานสะอาด การจัดการลดมลพิษพลาสติกซึ่งประเทศไทยเคยอยู่อันดับ 6 ในการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลโดยขณะนี้ลดอันดับลงมาเป็นอันดับ 9 ซึ่งถือว่าดีขึ้นกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทั้งหมดนี้ยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของโลกต่ำกว่า 2 องศาได้ และยังคงยากที่จะไปถึงเป้าหมายของการลดอุณหภูมิต่ำกว่า 1.5 องศาให้ได้ ทั้งนี้จึงเป็นความท้าทายที่จะต้องได้รับความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในอาเซียนและทั่วโลกในการหากลยุทธ์และวิธีการแก้ปัญหา เพื่อหาทางออกร่วมกันในการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครบทุกมิติ
“วันนี้ผู้นำภาคธุรกิจมารวมตัวเพื่อขับเคลื่อนประเด็น SDGs ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม การหารือครั้งนี้มุ่งเน้นในประเด็นที่ประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียนจะก้าวมามีบทบาทสำคัญในวาระสำคัญของโลกนี้อย่างไรบ้าง ตามนิยาม ‘building back better, together’ หรือ การร่วมกันฟื้นและสร้างโลกใหม่ให้ดีขึ้นไปด้วยกันในยุคหลังโควิด-19 ที่ครอบคลุมตั้งแต่สภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาสังคม ซึ่งการที่ผมพูดถึงมรสุมลูกใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญหน้า หรือ Perfect Storm นั้น มองในแง่บวก คือเราจะได้เตรียมตัวให้พร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตท่ามกลางเวลาที่เหลือน้อย จึงสำคัญอย่างมากที่เราต้องรีบออกมาขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติในอนาคต” นพปฎล กล่าว
นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือซีพี โดยนายพีรพงศ์ กรินชัย รองประธานกรรมการบริหาร สำนักวิศวกรรมกลาง เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “Climate & Biodiversity” เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านภาคธุรกิจในกลุ่มอาหารและการเกษตร
การประชุม UN Global Compact Leaders Summit 2022 ถือเป็นการรวมตัวของผู้นำภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งจากภาคธุรกิจชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์,บมจ. บางจากคอร์ปอเรชั่น, ลอรีอัล, อิเกีย รวมไปถึงผู้บริหารจากบริษัทกฎหมาย และการจัดการทางธุรกิจระดับโลก เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ เป็นต้น