สำหรับผู้ติดตามเศรษฐกิจไทยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ด้วยภาคส่งออกและท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ภาคในประเทศซึมเซาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไปในไตรมาส 3/2018 เนื่องจากเป็นไตรมาสแรกในรอบ 4 ปีที่การบริโภคเอกชนขยายตัวดีกว่าเศรษฐกิจ ภาพดังกล่าวทำให้ สำนักวิจัยเศรษฐกิจของรัฐมองว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวทั่วถึงแล้ว และทิศทาง (Momentum) เช่นนี้จะยังต่อเนื่องมาจนปี 2019
การบริโภคที่ฟื้นตัวนั้นเป็นผลจากสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์เป็นหลัก แต่การบริโภคสินค้ากึ่งคงทน เช่น เครื่องนุ่งห่ม และไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ รวมถึงบริการ ขยายตัวต่ำ และ/หรือชะลอลงต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง เนื่องจากผู้ที่มีกำลังซื้อรถยนต์นั้น ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูง
สำหรับทิศทางการบริโภคภาคเอกชนในปี 2019 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากปี 2018 จาก 3 ปัจจัยหลัก อันได้แก่ (1) ยอดขายรถยนต์ที่มีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ และกระทบต่อการบริโภคสินค้าคงทน (2) ภาคการท่องเที่ยวที่น่าจะขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน และจะกระทบต่อการบริโภคสินค้ากึ่งคงทนและไม่คงทน และ (3) รายได้ของเกษตรกร ที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงหดตัว ขณะเดียวกัน เสถียรภาพด้านการเมืองก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของการบริโภคระยะต่อไปเช่นกัน
จากทิศทางการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทำให้ SCBS Wealth Research ประมาณการว่า Same Store Sale รวมของ 7 บริษัทที่นักวิเคราะห์ของ บล. ไทยพาณิชย์ติดตาม ในปี 2019 อาจขยายตัวที่ประมาณ 1.9% ต่อปี ชะลอลงจากปี 2018 ที่ขยายตัวที่ 2.8% ต่อปี
แม้การประมาณการดังกล่าว จะคำนวณจากปัจจัยเชิงมหภาคลงมา (Top-down) มิใช่จากแนวโน้มการดำเนินงานของแต่ละบริษัท (Bottom-up) แต่การประมาณการดังกล่าวอยู่บนสมมุติฐานหลักที่ว่าแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมของไทยในปี 2019 จะชะลอจาก 2018 ดังนั้น นักลงทุนอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น โดยอาจเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี และมีการบริหารทีมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผลตอบแทนที่ได้คุ้มค่ากับการลงทุน