พพ.ดึงเครือข่ายรับมาตรการ BEC ใหม่ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิสรับชั่น หนุนภาครัฐ-เอกชนวิจัยนวัตกรรมออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน

พพ. เดินสายสร้างความเข้าใจมาตรการ BEC ออกแบบอาคาร–สถานประกอบการอนุรักษ์พลังงานในเวที “การออกแบบอาคารรับมือพลังงานยุคดิสรัปชั่น” สร้างความพร้อมนักออกแบบ เพิ่มทักษะ เข้าใจในกฎระเบียบ พัฒนาการก่อสร้างอาคาร ตามเกณฑ์มาตรฐานใหม่ หลังมีผลบังคับใช้ปีนี้ สำหรับอาคาร 10,000 ต.ร.ม. พร้อมหนุนงานวิจัยเทคโนโลยีก่อสร้าง และการใช้อุปกรณ์ด้านการอนุรักษ์พลังงาน

นายโกมล บัวเกตุ ผู้อำนวยการกองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังจัดสัมมนา “การออกแบบอาคารรับมือพลังงานยุคดิสรัปชั่น” ในงาน Smart Solutions Week 2019 เมื่อเร็วๆนี้ว่า ทิศทางของพลังงานในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้นวัตกรรมพลังงานที่เหมาะสม โดยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้หรือการผสมผสานเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งภายในปีหน้า 2563 จะประกาศใช้มาตรการด้านการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ BEC (Building Energy Code) สำหรับอาคารที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร (ต.ร.ม.) ขึ้นไป เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและปฏิบัติตามแนวทางการอนุรักษ์พลังงานที่จะนำไปสู่ การวิจัย พัฒนาด้านเทคโนโลยี และอุปกรณ์เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำการพัฒนาสมาร์ทเอเนอจี้ (Smart Energy) ของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกระตุ้นการพัฒนาอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานไปยังกลุ่มอาคารขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ได้กำหนดเป้าหมายในปี 2564 บังคับใช้กับอาคารที่มีขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และในปี 2565 บังคับใช้ กับอาคารที่มีขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งมาตรการบังคับใช้นี้ถือเป็นหนึ่งในมาตรการดำเนินงานของ พพ. ที่จะดำเนินการควบคู่กับมาตรการจูงใจสนับสนุนทางการเงิน

“การออกแบบอาคารรับมือพลังงานยุคดิสรัปชั่น” ถือเป็นความท้าทายของไทย เนื่องจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ประกอบกับกระแสของการแสวงหาพลังงานสะอาดของทั่วโลกเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานที่สามารถลดต้นทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการพัฒนาพลังงานของทุกภาคส่วนจึงมีความสำคัญที่ต้องมีการปรับตัวกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นที่นำไปสู่เป้าหมายเดียว คือ การอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ” นายโกมลกล่าว

ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจประเภทอาคารธุรกิจตลอดจนหน่วยงานภาครัฐได้ตื่นตัวในการออกแบบอาคารเพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตโครงสร้าง วัสดุ อุปกรณ์ การใช้พลังงานทดแทนเพื่อใช้ในอาคาร เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบอาคาร BEC นับเป็นความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของการดำเนินงานของ พพ. ทุกภาคส่วนสามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้ในหลายรูปแบบ เพื่อให้เป็นไปตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 หรือ (Energy Efficiency Plan; EEP 2015) ที่กำหนดเป้าหมายลดการใช้พลังงานร้อยละ 30 ภายในปี 2579

Related Posts

Scroll to Top