พาณิชย์เดินหน้ารุกธุรกิจบริการเข้าตลาดญี่ปุ่น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนาใหญ่ เรื่องไทย-ญี่ปุ่น หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจผ่าน FTA ณ โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท โดยมีนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ไทยได้มีการพัฒนากลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น ในหลายระดับ ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)

สำหรับความตกลง AJCEP นั้น อาเซียนและญี่ปุ่นสามารถบรรลุการเจรจาความตกลงด้านการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน ได้แล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2560 และกำหนดเป้าหมายที่จะลงนามความตกลงด้านการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ภายในปลายปีนี้ โดยความตกลงดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปลงทุนในสาขาบริการต่างๆในญี่ปุ่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น การโฆษณา การจัดเลี้ยง การจัดประชุม บริการทัวร์และไกด์ จัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ โรงแรม สปา อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร การวิจัยและการพัฒนา การซ่อมแซมและบำรุงรักษาอากาศยาน และจัดจำหน่าย เป็นต้น ในขณะที่ไทยได้เปิดให้นักลงทุนของญี่ปุ่นและอาเซียนเข้ามาประกอบธุรกิจได้ในสาขาบริการ เช่น บริการธุรกิจ โทรคมนาคม การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ร้อยละ 49 หรือร้อยละ 70 ตามประเภทของธุรกิจ โดยไทยไม่ได้เปิดตลาดเกินกว่าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการอาเซียน (AFAS) นอกจากนี้ ในด้านการลงทุนความตกลงยังคุ้มครองและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนว่าจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ไม่ถูกเวนคืนการลงทุนโดยไม่มีเหตุอันควร และสามารถโอนเงินเข้า-ออกจากประเทศได้อย่างเสรี รวมถึงให้มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านการลงทุนที่โปร่งใสและทั่วถึง ทำให้กระบวนการยื่นและอนุมัติลงทุนง่ายขึ้น

ในส่วนความตกลง JTEPA ได้ครบรอบ 10 ปีของการมีผลบังคับใช้ในปี 2560 โดยที่ผ่านมา JTEPA ช่วยให้การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลการบังคับใช้ความตกลงฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าในปี 2550 การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมูลค่า 48,166 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2559 การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมูลค่า 51,272 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลการค้าที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.5 นอกจากนี้ ในปี 2559 ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ JTEPA มูลค่า 6,152 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ร้อยละ 81.5 ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด โดยสินค้าหลักที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกภายใต้ JTEPA เช่น ไก่ปรุงแต่ง กุ้งปรุงแต่ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และแหนบรถยนต์ เป็นต้น

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 16 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 8 ของญี่ปุ่น ในปี 2560 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 54,346.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมีมูลค่า 22,309.56 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่า 32,037.33 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า

Related Posts

Scroll to Top