นางสุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ดำเนินการทบทวนตัวอย่างสินค้าส่งออกและนำเข้า หลังจากได้มีการปรับปรุงโครงสร้างค่าน้ำหนักของรายการสินค้าสำหรับจัดทำดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าโดยได้ศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างสัดส่วนมูลค่าส่งออกและนำเข้าในปี 2561 เพื่อนำมาปรับปรุงรายการสินค้าให้มีความทันสมัยและมีค่าน้ำหนักของรายการสินค้าสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น จากผลการศึกษาพบว่า เศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการค้ากับต่างประเทศค่อนข้างสูง ทำให้การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยและยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นจากสถานการณ์การค้า
โลกในปัจจุบัน อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ภาวะการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงมากขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้มูลค่าการค้ากับต่างประเทศขยายตัวได้น้อยลงในหลายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร นอกจากนี้ กระแสการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยียังทำให้สินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการเปลี่ยนไปตามแนวโน้มตลาดที่ต้องการเทคโนโลยีใหม่อีกด้วย
สนค. จึงได้เร่งดำเนินการปรับปรุงรายการสินค้า เพื่อจัดทำดัชนีราคาส่งออก – นำเข้า ที่นับว่าเป็นเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจมหภาคสำหรับภาครัฐและเอกชน ในการชี้ความสามารถการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ การส่งผ่านของเงินเฟ้อจากราคานำเข้าสินค้า และยังใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำ GDP และกำหนดนโยบายทางการเงินเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างใกล้ชิดจากผู้ประกอบการสินค้าอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตลอดจนกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ กลุ่มสินค้าข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เพื่อนำมาปรับปรุงการเก็บตัวอย่างให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์
นางสุรีย์พร กล่าวเสริมตอนท้ายว่า เนื่องจากดัชนีราคาส่งออก – นำเข้า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประเมินเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ในอนาคตมีแนวคิดจะพัฒนาแหล่งจัดเก็บข้อมูลราคาส่งออก – นำเข้า โดยบูรณาการการใช้ข้อมูลร่วมกับแหล่งจัดเก็บข้อมูลราคาสินค้าผู้ผลิต ผ่านความร่วมมือของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะทำให้ได้ข้อมูลราคาสินค้าและแหล่งจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและภาคการค้าระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ดัชนีสามารถสะท้อนภาวะเศรษฐกิจการค้าได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพ