มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย … ยับยั้งปัญหาความไม่สมดุลของตลาด ก่อนเข้าสู่จังหวะดอกเบี้ยขาขึ้น

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก ธปท. แม้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงข้างหน้า แต่นับเป็นแนวทางที่ดี เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการสะสมภาวะความไม่สมดุลที่มากขึ้นระหว่างอุปสงค์และอุปทานในภาคอสังหาริมทรัพย์ อันท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการช่วยสร้างความสมดุลและทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะถัดไป

• สำหรับผลกระทบจากมาตรการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าวนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 มากกว่าปี 2561 ดังนั้น จำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลอาจจบปี 2561 ที่ระดับใกล้เคียงกับปี 2560 ที่ราว 190,000 หน่วย และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลของสถาบันการเงิน คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.5 ซึ่งดีขึ้นกว่าร้อยละ 6.1 ในปี 2560 เล็กน้อย ขณะที่ เป็นที่คาดหมายว่าเครื่องชี้ดังกล่าว โดยเฉพาะฝั่งสินเชื่อ จะทยอยผ่อนแรงส่งลงในปี 2562 ซึ่งทำให้ยังต้องติดตามเส้นทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการ และปัญหาคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิดในช่วงปีหน้าด้วย

Related Posts

Scroll to Top