รฟม. ยกระดับมาตรการด้านสุขภาพและอนามัยในเขตระบบรถไฟฟ้า MRT และพื้นที่สำนักงาน พร้อมรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม. ในฐานะหน่วยงานกำกับผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) มีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน และตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ภายในพื้นที่เขตระบบรถไฟฟ้า จึงได้สั่งการให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ยกระดับมาตรการด้านสุขภาพและอนามัยภายในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ดังนี้

– เพิ่มความถี่การทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในสถานีรถไฟฟ้าทุกสถานี โดยเฉพาะพื้นที่ให้บริการที่มีการสัมผัสกับผู้ใช้บริการบ่อยๆ เช่น เครื่องออกบัตรโดยสาร ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ราวจับบันได บันไดเลื่อน ราวกันตก ประตูเก็บค่าโดยสาร เก้าอี้นั่ง ลิฟต์โดยสาร เป็นต้น
– เพิ่มการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในขบวนรถไฟฟ้า หลังปิดให้บริการ และก่อนเปิดให้บริการทุกวัน และเน้นการเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในบริเวณที่ผู้โดยสารต้องสัมผัส เช่น ราวจับภายในขบวนรถ เก้าอี้นั่ง เป็นต้น
– จัดให้มีจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ บริเวณจุดตรวจสัมภาระ และห้องออกบัตรโดยสาร ในสถานีรถไฟฟ้าทุกสถานี
– แจกหน้ากากอนามัยแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีสวนจตุจักร สถานีสุขุมวิท และสถานีสีลม และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่สถานีตลาดบางใหญ่ และสถานีเตาปูน ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
– ดูแลสุขภาพพนักงานที่ให้บริการในสถานี และขบวนรถไฟฟ้า ด้วยการตรวจความพร้อมด้านสุขภาพ ตรวจวัดไข้ก่อนการปฏิบัติงานทุกครั้ง และให้พนักงานสวมหน้ากากอนามัยกรณีที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีประชาชนหนาแน่น

นอกจากนี้ รฟม. ยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของพนักงานและผู้ปฏิบัติงานภายใน รฟม. ตลอดจนผู้ที่เข้ามาติดต่องาน ณ สำนักงาน รฟม. โดยจัดให้มีจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือและแจกหน้ากากอนามัยภายในอาคารสำนักงานอย่างทั่วถึง พร้อมกันนี้ได้มอบนโยบายให้ผู้บังคับบัญชาทุกส่วนงาน แจ้งแนวทางปฏิบัติสำหรับพนักงานที่มีอาการไข้ ให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที ทั้งนี้ รฟม. ได้สั่งการให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา และผู้รับจ้าง/ผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าทุกสายที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม. นำแนวทางการดูแลสุขภาพและอนามัยดังกล่าวไปปฏิบัติเช่นเดียวกัน สามารถติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044

Scroll to Top