รฟม. เตรียมพร้อมมาตรการรองรับการเดินทางของผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT หลังคลายล็อคการเว้นระยะห่างในขบวนรถไฟฟ้า

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมในระยะที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และเห็นชอบการขอยกเว้นการปฎิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 11(4) ที่กำหนดให้เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ตามที่กระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางราง ได้นำเสนอเพื่อผ่อนปรนมาตรการการเว้นระยะห่างภายในขบวนรถของระบบขนส่งทางรางภายใน กทม. และปริมณฑล เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อสถานศึกษาทำการเปิดภาคเรียนในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ได้เตรียมความพร้อมในมาตรการรองรับการเดินทางของผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT ในช่วงเปิดภาคเรียน โดยได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางรางอย่างเคร่งครัด เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ทั้งนี้การคลายล็อคมาตรการการเว้นระยะห่างภายในรถไฟฟ้านั้น จะทำการอนุญาตให้ผู้โดยสารนั่งติดกันได้ สำหรับการยืนจะกำหนดจุดยืนเว้นระยะและหันหน้าตามทิศทางที่แนะนำในขบวนรถ โดยจะควบคุมความหนาแน่นในขบวนรถไม่เกิน 70% โดยปัจจุบันผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT ได้กลับเข้ามาใช้บริการมากขึ้นเฉลี่ย 250,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ เมื่อผู้โดยสารเข้าสู่ในขบวนรถไฟฟ้าแล้ว ขอความร่วมมือสแกน QR CODE ไทยชนะที่ติดอยู่ในตู้โดยสาร ผู้โดยสารต้องสวมใส่หน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัย ตลอดเวลาที่เข้าใช้บริการรถไฟฟ้า และขอความร่วมมืองดเว้นการพูดคุยภายในขบวนรถไฟฟ้า โดยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระบบรถไฟฟ้า MRT ที่ รฟม. และ BEM ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนั้นจะยังคงดำเนินการต่อไป อาทิ การจัดให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือภายในสถานีรถไฟฟ้า การตั้งจุดตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าในทุกสถานีตลอดระยะเวลาการให้บริการ การเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อภายในสถานีและภายในขบวนรถไฟฟ้า การทำความสะอาดเหรียญโดยสาร การตรวจวัดอุณหภูมิของเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการในสถานี การดูแลให้อากาศหมุนเวียนภายในขบวนรถไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ รฟม. และ BEM ได้จัดขบวนรถเสริมในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ให้บริการในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็นในระบบอีก 9 ขบวน จากปกติจะมีขบวนรถให้บริการ 40 ขบวน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ในกรณีที่สถานีรถไฟฟ้าสถานีใดมีผู้โดยสารหนาแน่นมาก จะนำขบวนรถเสริมให้บริการที่สถานีนั้นเป็นสถานีแรก โดยไม่จอดรับผู้โดยสารที่สถานีก่อนหน้า และในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 รฟม. ได้ขยายระยะเวลาโปรโมชั่นลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จ่ายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากอัตราปกติคือ จ่ายสูงสุด 42 บาท และสำหรับผู้ที่เดินทางเชื่อมต่อ 2 สาย ระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน จะจ่ายค่าโดยสารร่วมสูงสุดเพียง 48 บาท (เดินทางได้ถึง 53 สถานี) จากอัตราค่าโดยสารร่วมปกติคือ จ่ายสูงสุด 70 บาท เด็กอายุไม่เกิน 14 ปี ที่มีความสูงระหว่าง 91-120 ซม. และผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 50% และนักเรียน/นักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 23 ปี จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 10% เพิ่มเติมจากโปรโมชั่นดังกล่าว ทั้งนี้ขอเชิญชวนให้ผู้โดยสารใช้บัตรโดยสาร MRT และ MRT PLUS เติมเงินผ่านแอปพลิเคชัน True Money Wallet และ Krungthai Next หรือตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และยังช่วยลดการสัมผัสกับเงินสด ลดการติดต่อและแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044

Related Posts

Scroll to Top