รมว. การอุดมศึกษาฯ นำทีมหารือ ส.อ.ท. เตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่ศตวรรษที่ 21 ขับเคลื่อนให้เกิด Industry Transformation ด้วย STI

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงมาร่วมประชุมกับ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อหารือกรอบยุทธศาสตร์และบูรณาการความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยมุ่งสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้ วทน. (วิทยาศาตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม) พร้อมตอบโจทย์นโยบายภาครัฐในการสนับสนุนการสร้างคน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิต

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ดำเนินงานร่วมกับ ส.อ.ท. ในการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ ดังนั้น การเข้าหารือวันนี้ จึงเป็นการหารือเพื่อรับฟังโจทย์ทิศทางการพัฒนาและผลักดันให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมไปถึงข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนงานภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกรอบการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญของกระทรวงผ่าน 4 แพลตฟอร์มสำคัญ ได้แก่ 1) การสร้างคนและองค์ความรู้ โดยรวมหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ผนึกกำลังกันนำไปสู่การตอบโจทย์ประเทศ สร้างระบบนิเวศของการสร้างนักวิจัย เพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถทั้งของไทยและของโลก 2) การขับเคลื่อนองค์ความรู้และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการใช้ศาสตร์ต่างๆ เช่น AI, Creative Economy, Sharing Economy 3) การลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน และส่งเสริมงานวิจัยที่ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ 4) การตอบโจทย์วิจัยที่เป็นประเด็นท้าทายของประเทศและโลก ด้วย Frontier Research เป็นต้น

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การหารือในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย โดย ส.อ.ท. ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้ ยุทธศาสตร์สำคัญของ ส.อ.ท. 5 ด้าน ได้แก่ 1. สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม 2. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย 3. ยกระดับ SMEs และส่งเสริม Made-in-Thailand 4. เสริมสร้างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม 5. ยกระดับทักษะ ความรู้และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ส.อ.ท. ได้มีการนำเสนอแนวทางการส่งเสริมเพื่อกำหนดเป็นกรอบในการดำเนินงานร่วมกัน โดยเน้นการสร้างโอกาสให้ SMEs เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะแรงงานรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อเป้าหมายสู่การพัฒนาเทคโนโลยีได้เองภายในประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้ในอนาคต ซึ่งได้มีการวางแผนงานตามกรอบความร่วมมือไว้ดังนี้

  • 1.SMEs Transformation ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทย ก้าวเข้าสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยกลไกตลาดและทุนสนับสนุนทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม (STI Market & Innovation Fund)
  • 2.การพัฒนานวัตกรรมชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (1 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด : 1 สถาบันอุดมศึกษา : 1 นวัตกรรมชุมชน)
    •สร้าง Technology Platform สำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก / วิสาหกิจชุมชน / OTOP
    •การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกษตรสู่การเป็น Smart Farming
  • 3.BCG Model การพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนผ่านกลไก SMEs Innovation Consortium ส่งเสริมการสร้าง Sharing Innovation Platform
  • 4.Re-skill / Up-skill เพื่อยกระดับทักษะความสามารถแรงงานไทย ด้วยการพัฒนา Thailand National Skill Development Program Platform

ทั้งนี้ ส.อ.ท. และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะร่วมกันทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันนโยบายการขับเคลื่อนให้เกิด Industry Transformation ด้วย วทน. ให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Scroll to Top