ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ พบสปอร์ตบราบางตัวอย่างยังปนเปื้อนสารเคมีเสี่ยงก่อมะเร็ง

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์สปอร์ตบรา จำนวน 8 ยี่ห้อ จากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วไป ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2565 ส่งตรวจกับห้องทดสอบที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน  โดยเป็นการทดสอบด้านความปลอดภัยสองรายการ ได้แก่ สีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว ปริมาณฟอร์แมลดิไฮด์ และอีกหนึ่งรายการเป็นการทดสอบเรื่องการจัดการความชื้น (Liquid Moisture Management Properties) รวม 3 รายการ ในการทดสอบเรื่องการจัดการความชื้น เนื่องจากเนื้อผ้าและวัสดุของสปอร์ตบราไม่เหมือนเสื้อชั้นในและเสื้อผ้าทั่วไป เพราะประกอบด้วยผ้าผสมหลายชนิด รวมถึงดีไซน์การตัดเย็บที่ต่างกัน จึงทดสอบการจัดการความชื้นในสามบริเวณได้แก่ ด้านหน้าที่มีฟองน้ำ ด้านหน้าที่ไม่มีฟองน้ำและด้านหลัง (บางชุดวัสดุตรงกลางและด้านข้างต่างกัน)

ผลการทดสอบ ด้านความปลอดภัย การตรวจสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบสารสองชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในตัวอย่างยี่ห้อ Wacoal Motion Support WR 3448 (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบฟอร์แมลดิไฮด์ 1 ตัวอย่างในยี่ห้อ GENTLEWOMAN sports club ปริมาณ 26.83 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (น้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบฟอร์แมลดิไฮด์

การจัดการความชื้น ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 1 – 5 (ตัวเลขสูงแสดงถึงค่าการคลายความชื้นของผ้าได้ดี) ผลการทดสอบพบว่า ค่า One-way transport capability (R) โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าที่มีฟองน้ำส่วนใหญ่ค่อนข้างต่ำ ส่วนบริเวณด้านหน้าที่ไม่มีฟองน้ำและบริเวณด้านหลัง มี 3 ยี่ห้อที่ผลการทดสอบน่าพอใจ  คือ Decathlon รุ่น DOMYOS MEDIUEM SUPPORT, Reebok รุ่น Running BRA IC1888 และ  Adidas Training Women Medium support

ปัจจุบัน “สปอร์ตบรา” ไม่ได้จำกัดการสวมใส่เฉพาะเพื่อการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเท่านั้น ผู้หญิงหลายคนยังสวมใส่เป็นเสื้อชั้นในในชีวิตประจำวันด้วย คุณทัศนีย์  แน่นอุดร   บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า  ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเคยดำเนินการส่งทดสอบ ชุดชั้นในชายสีดำ และชุดชั้นในหญิงสีดำมาแล้ว ในปี 2555, 2556 และในปี 2565 ในกลุ่มชุดชั้นในผู้หญิงสีดำ เคยพบสารก่อมะเร็งในปริมาณไม่เกินมาตรฐาน แต่หากอ้างอิงเกณฑ์ของฉลากสิ่งแวดล้อมของยุโรป จะต้องไม่มีสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ การทดสอบครั้งนี้ เพื่อเฝ้าระวังสารก่อมะเร็งในสิ่งทอให้ต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันกับผู้บริโภคได้พิจารณา ตัดสินใจเลือกซื้อได้ครบถ้วน  
ฉลาดซื้อมีข้อแนะนำการเลือกสปอร์ตบรา ดังนี้  
       1. เลือกตามการใช้งาน สปอร์ตบราส่วนใหญ่แบ่งการรองรับการเคลื่อนไหวเป็นสามระดับ คือ การวิ่ง การเล่นกีฬาหนักๆ ควรเลือกชนิด  High Support ในขณะที่ระดับ Medium Support เหมาะสำหรับการออกกำลังกายที่เคลื่อนไหวไม่มาก และระดับ Light Support  เหมาะสำหรับ เวทเทรนนิ่ง บอดี้เวท การปั่นจักรยาน การเล่นโยคะ พิลาทีส เป็นต้น
       2. เลือกสปอร์ตบราให้พอดีกับขนาดของหน้าอก การทดลองสวมที่ร้านจะดีที่สุด โดยทั่วไปขนาดสปอร์ตบราจะเล็กกว่าขนาดของชุดชั้นในเล็กน้อย ควรเลือกที่ใส่แล้วไม่อึดอัดหรือคับเกินไป ไม่มีเนื้อส่วนเต้าล้นออกมา และไม่มีตะเข็บที่ก่อให้เกิดการเสียดสี
       3. เลือกจากวัสดุที่ช่วยระบายความชื้นและความร้อนได้ดี จะช่วยทำให้รู้สึกแห้งสบาย ไม่เหนอะหนะ วัสดุที่นิยมในปัจจุบันได้แก่ ไนลอน โพลีเอสเตอร์ สแปนเด็กซ์ ไลครา อีลาสติน
สีกลุ่มเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ได้ มาตรฐานที่ใช้ในการตรวจครั้งนี้คือ 1.มอก.2346-2550 เสื้อผ้าสำเร็จรูป และ 2.มอก.เอส 6-2561 เสื้อกีฬา
ด้าน ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ยุโรปกำหนดเรื่องสารเคมีอันตรายในเส้นใย เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ ชัดเจนมาก

ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง สร้างมลพิษทางน้ำ  เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงเป็นลำดับที่ 5 ของโลก และขณะสวมใส่ยังมีสารเคมีในเนื้อผ้าที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง กลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศจีน มีกฎหมายห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสีย้อมที่จะกลายเป็นสารก่อมะเร็งจำพวกแอมีน (amines) แล้ว ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะมีมาตรฐานการใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และสร้างโอกาสในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสิ่งทอจากการยกระดับมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพอีกด้วย  
 
การผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นในปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้ผลิตลดต้นทุน ทั้งเรื่องค่าแรงและความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก  เห็นได้จากการตรวจสอบของกรีนพีซ เมื่อปลายปี 2555 พบสารเคมีอันตรายหลายชนิดตกค้างอยู่ในเสื้อผ้าแฟชั่นที่วางขาย ทั้งสารเคมีเป็นพิษในระดับสูงคือกลุ่มพทาเลท และสารประกอบอินทรีย์จำพวกเอมีน (amines) ซึ่งมีฤทธิ์ก่อมะเร็ง ที่มาจากการใช้สารฟอกย้อมจำพวกเอโซ (azodyes) และสารอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก แม้สารเหล่านี้ถูกพบว่าอยู่ในระดับที่กฎหมายกำหนด แต่เสื้อผ้าที่ผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องกำลังแปรสภาพเป็นเสื้อผ้ามือสองอย่างรวดเร็ว และถูกส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ ทำให้สารเคมีอันตรายแพร่กระจายเป็นวงกว้างไปทั่วโลก เกิดการสะสมจนเป็นอันตรายทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนลงแหล่งน้ำใต้ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารกลุ่มโนนิลฟีนอลอีทอกซิเลท (NPEs) ที่ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยระบบบำบัดน้ำเสียทั่วไป

ล่าสุดรายงานฉบับใหม่ของ กรีนพีซ เยอรมนี เปิดเผยถึงการพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์แบรนด์ฟาสต์แฟชั่น SHEIN หลังได้ทำการทดสอบผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ SHEIN ทั้งหมด 47 ชิ้น และพบว่ามีผลิตภัณฑ์ 15 ชิ้นจากทั้งหมดปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในระดับที่น่าเป็นห่วง

Related Posts

Scroll to Top