ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนกรกฎาคม 2562

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนกรกฎาคม 2562 ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร กุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเจ้า มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงการคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนกรกฎาคม 2562 ที่จัดทำโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. พบว่าสินค้าเกษตรที่จะมีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.89-2.22 อยู่ที่ราคา 11,709-11,863 บาท/ตัน เนื่องจากภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังลดลง ประกอบกับมีความต้องการนำไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-0.80 อยู่ที่ราคา 7.82-7.84 บาท/กก. เนื่องจากอยู่ในช่วงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน (ปลูกตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม) ทำให้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดมีน้อย ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังคงมีต่อเนื่อง น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3 – 5 อยู่ที่ราคา 13.13-13.39 เซนต์/ปอนด์ (8.95-9.12 บาท/กก.) โดยคาดการณ์ว่า การผลิตน้ำตาลของอินเดียในปี 2562/63 จะลดลงร้อยละ 15 จากภาวะภัยแล้งและฤดูมรสุมล่าช้า ประกอบกับรายงานผลผลิตน้ำตาลของบราซิลฤดูการผลิต 2562/63 ที่ปรับตัวลดลง 11.96 และแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปรับลดสัดส่วนการผลิตน้ำตาลลง ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยโลกปรับลดลง ยางพาราแผ่นดิบ คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.42 – 6.33 อยู่ที่ราคา 51.27 – 53.23 บาท/กก. เนื่องจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ปรับรูปแบบตลาดยางพาราในทุกพื้นที่เป็นเครือข่ายตลาดกลางยางพารา ทำให้เกษตรกรจำหน่ายยางพาราได้ในราคาที่สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น มันสำปะหลัง คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60 – 9.75 อยู่ที่ราคา 1.65 -1.80 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับคาดว่าในเดือนกรกฎาคม 2562 ปริมาณฝนจะลดลงต่ำกว่าปกติร้อยละ 10 ส่งผลให้คุณภาพหัวมันสำปะหลังและราคารับซื้อเพิ่มขึ้น ปาล์มน้ำมัน คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.75 – 2.27 อยู่ที่ราคา 2.66 – 2.70 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันมีปริมาณลดลงตามรอบการผลิต ประกอบกับนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มกำลังการบริโภคน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2562 ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเพิ่มขึ้น และสุกร คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.50 – 3.00 อยู่ที่ราคา 72 – 74 บาท/กก. เนื่องจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในประเทศเพื่อนบ้านและการปลดแม่พันธุ์สุกร ทำให้ปริมาณสุกรออกสู่ตลาดลดลง และกุ้งขาวแวนนาไม คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.48 – 1.92 อยู่ที่ราคา 140 – 142 บาท/กก. เนื่องจากเกษตรกรลดปริมาณการปล่อยลูกกุ้ง ทำให้ปริมาณกุ้งที่จะออกสู่ตลาดลดลง และส่งผลให้ราคากุ้งขาวแวนนาไม ปรับเพิ่มขึ้น

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% คาดว่า ราคาจะลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.21-0.60 อยู่ที่ราคา 7,734 -7,751 บาท/ตัน เนื่องจากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ประกอบกับคาดว่า ประเทศฟิลิปปินส์จะลดความต้องการนำเข้าข้าวลง จากที่ได้นำเข้าข้าวจากเวียดนามในช่วงที่ผ่านมาสะสมในสต็อกเพิ่มขึ้น และข้าวเปลือกหอมมะลิ คาดว่า ราคาจะลดลงขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.45-0.60 อยู่ที่ราคา 15,697-15,721 บาท/ตัน เนื่องจากราคาส่งออกของไทยมีแนวโน้มสูงกว่าคู่แข่งจากการที่เงินบาทที่แนวโน้มแข็งค่า ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อข้าวหอมจากเวียดนามและกัมพูชาที่มีราคาถูกกว่า

Scroll to Top