สจล. กับบทบาทการพัฒนาเทคโนโลยีและคน เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศรถ EV ในไทย

สจล. กับบทบาทการพัฒนาเทคโนโลยีและคน เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศรถ EV ในไทย

ปี 2565 นี้เป็นปีที่ประเทศไทยได้เริ่มเดินหน้าเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ทั้งภาคเอกชนที่นำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ เข้ามาจำหน่ายมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐได้ออกนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี เพื่อจูงใจให้คนอยากซื้อมากขึ้น มาตรการสนับสนุนการพัฒนาแบตเตอรี่ ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้คนเชื่อมั่นว่าเมื่อซื้อรถ EV มาแล้วจะไม่ถูกทิ้ง มีจุดชาร์จครอบคลุมเมื่อต้องเดินทางไม่ว่าจะใกล้หรือไกล

สำหรับภาคการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยไทย ที่วิจัยและพัฒนาด้านรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) มาหลายปี ส่งนักศึกษาที่เรียนจบไปทำงานตามบริษัท และหน่วยงานที่พัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้ามากมาย รวมถึงทำให้เกิด SME ที่ทำธุรกิจด้านการพัฒนารถ EV ของคนไทยอีกด้วย

ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สจล. พัฒนาอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรก คือการพัฒนารถ EV ที่สถาบันพยายามผลักดันเพื่อจะเป็นผู้เล่นในตลาด สามารถพัฒนาใช้เองได้ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระบบ Battery Management System (BMS) หรือ ระบบการขับเคลื่อน สจล. จะทำในส่วนของพาร์ทควบคุมทั้งหมด เพื่อลดการนำเข้าในอนาคต และยังสามารถขยายเป็นธุรกิจใหม่ให้กับคนไทย รวมถึงนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบ

สจล. กับบทบาทการพัฒนาเทคโนโลยีและคน เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศรถ EV ในไทย

ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นระบบชาร์จ ที่ปัจจุบันพัฒนาไว้ครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาแอปพลิเคชัน PEA VOLTA การพัฒนา User Interface ของระบบการสื่อสารระหว่างแอปพลิเคชันกับเครื่องชาร์จ หรือการทำ Roaming รวมจุดชาร์จจากทุกค่ายมาไว้ในที่แอปฯเดียวในอนาคต เพื่อให้คนที่ใช้รถไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องมีหลายแอปฯ อีกต่อไป

ด้านการติดตั้งจุดชาร์จเพิ่มในประเทศไทย ได้มีแผนร่วมกับ PEA ว่าจะติดตั้งเพิ่มอีก 190 สถานี ทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี (ปัจจุบันมี 62 สถานี) เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคนที่เดินทางไปต่างจังหวัด

“ในอนาคตเรามองว่าจะพัฒนาแอปพลิเคชัน PEA VOLTA ให้สามารถติดตั้งที่ตัวรถได้ ใช้งานผ่านหน้าจอของตัวรถได้เลย”

สำหรับการพัฒนาจุดชาร์จแบตเตอรี่จากที่บ้าน (ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ของคนซื้อรถยนต์ EV) สจล. ได้ร่วมพัฒนา Power Wallbox ในชื่อ VOLTA Wall Charge ร่วมกับ PEA โดยอุปกรณ์ชาร์จตัวนี้จะสามารถเชื่อมต่อกับมิเตอร์ของการไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องไปกระทบกระเทือนไฟบ้าน และมีบริการพร้อมติดตั้งเช่นเดียวกับบริการของการไฟฟ้านครหลวง คาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในงาน Motor Expo ปลายปีนี้

สจล. กับบทบาทการพัฒนาเทคโนโลยีและคน เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศรถ EV ในไทย

“จะเห็นว่าเราไม่ได้ทำคนเดียว เรามีพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วย ซึ่งจุดเด่นของเรา คือ การสร้างคนและงานวิจัย และให้พาร์ทเนอร์นำงานวิจัยเราไปใช้ประโยชน์”

แนะรัฐลดภาษีการดัดแปลงรถสันดาป สู่ EV

ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพสนใจทำธุรกิจการดัดแปลงรถคลาสสิคให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพราะรถยนต์กลุ่มนี้ไม่สามารถหาเครื่องยนต์รุ่นเดิมมาใส่ได้แล้ว ขณะที่เจ้าของยังรักในรูปทรงของรถตัวเองอยู่

ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า การแปลงรถยนต์สันดาปให้เป็น EV ยังมีปัญหา คือ ภาษีนำเข้าสูงมาก ทั้งแบตเตอรี่ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำให้ธุรกิจนี้ไม่เกิดในรถยนต์เชิงพาณิชย์ทั่วไป เพราะราคาของโครงสร้างภาษีและราคาแบตเตอรี่ ทำให้ราคาซื้อคันใหม่ในราคา 7-8 แสน นั้นคุ้มค่ากว่าการนำรถเก่ามาแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพราะไทยยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนได้ ซึ่งถ้าบริษัทในไทยสามารถผลิตแบตเตอรี่ได้ ต้นทุนจะลดไป 30% ทันที คนไทยจะได้ใช้ของถูกลง

“ภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนการนำเข้าเพื่อมาดัดแปลงรถยนต์ให้เป็นไฟฟ้า เช่นการยกเว้นภาษี”

ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวต่อว่าสำหรับ สจล. มีหน้าที่คือการพัฒนาการแปลงรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งในปัจจุบันถูกกำหนดโดยกรมการขนส่งทางบก มีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการดัดแปลง

สำหรับจักรยานยนต์นั้นสามารถดัดแปลงให้เป็นแบบเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ มีค่าใช้จ่ายต่อคันอยู่ประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท ซึ่งทาง สจล. ได้ออกแบบเองเป็นโครงการเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เป็นโครงการที่ทำมาเพื่อสนับสนุนวินมอเตอร์ไซค์

“ถ้าวินมอเตอร์ไซค์เปลี่ยนมาใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดก็จะช่วยลดมลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้เราสามารถตั้งตู้ชาร์จไว้ที่จุดพักของวินมอเตอร์ไซค์ได้”

สจล. กับบทบาทการพัฒนาเทคโนโลยีและคน เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศรถ EV ในไทย

ปรับหลักสูตร สร้างคนเสริมอุตสาหกรรม EV

การจะผลิตแรงงานที่มีความรู้ สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อจบการศึกษานั้นเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายของ สจล.

ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า สจล. ได้เปลี่ยนสูตรการเรียนการสอน เรียกว่า Skill Mapping ทำให้เด็กมีทักษะการพัฒนารถไฟฟ้า ประกอบด้วยทักษะ 3 อย่าง คือ Ability to Design , Ability to Analyze และ Ability to Implement หรือความสามารถในการออกแบบ วิเคราะห์ และลงมือทำ

นักศึกษาที่เข้ามาในโครงการจะได้ลองออกแบบการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า ผ่านการทำสำรวจการสัมภาษณ์ผู้ใช้ ว่าแต่ละคนมีความต้องการอะไรบ้าง ก่อนจะทำการวิเคราะห์รูปแบบและโครงสร้างทางด้านวิศวกรรมว่าใช้ได้หรือไม่ จากนั้นนักศึกษาจะได้ลงมือทำ

ภายในระยะเวลา 2 ปี เด็กกลุ่มนี้จะมีสกิล รู้เรื่องระบบไฟฟ้ากลไกทั้งหมด เมื่อเด็กที่มีทักษะจบออกไปก็จะสามารถทำงานได้ทันที ทั้งในภาคอุตสาหกรรม หรือกับค่ายรถยนต์ หรือบางคนที่มีไอเดียธุรกิจ ก็ไปตั้งเป็น SME ได้ในอนาคต

“ปัจจุบันเราสร้างทักษะให้กับเด็กๆ ที่ปี 3-4 แต่ในอนาคตเราจะเริ่มตั้งแต่ ปี 1 หรือ ปี 2 ซึ่งถ้าเรามีแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบรุ่นต่อรุ่น ก็จะเกิดการพัฒนาแบบไม่มีจุดสิ้นสุด”

สจล. กับบทบาทการพัฒนาเทคโนโลยีและคน เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศรถ EV ในไทย

ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวต่อว่า การที่ สจล. จะเป็นผู้เล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องวางแผนว่าถ้าทำต่อไปอีก 4-5 ปี ผลิตคนออกไป ผลิตงานวิจัยใหม่ๆ ออกไป นักศึกษาที่จบออกไปก็เข้าไปทำการกับการไฟฟ้า ไปอยู่กับบริษัทเอกชน หรืออาจจะตั้งเป็นบริษัทได้ในอนาคต

ปัจจุบัน บริษัทปรีชาถาวรอุตสาหกรรม เป็นบริษัท SME ที่เป็นศิษย์เก่าของ สจล. ได้นำดีไซน์ไปสร้างเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้จริง ซึ่งการที่เด็กในมหาวิทยาลัยจบออกไปเจอรุ่นพี่ที่จบไปก่อนหน้า จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาทักษะ

“ซึ่งงานวิจัยของ สจล. ที่ทำออกมาทั้งหมดจะมีคนนำไปใช้ เพราะเราไม่ได้ทำงานวิจัยมาจากความอยากทำ แต่เรารับโจทย์มาจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการทำงานวิจัยแบบนี้ทำให้เราได้ความรู้ และเกิดจะการจ้างงานจากภาคอุตสาหกรรม”

ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวในตอนท้ายว่า “จุดสำคัญที่สุดของโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องของการผลิตรถยนต์ แต่การผลิตคนลงไปนั้นสำคัญกว่า เพราะประเทศเรายังขาดคนอีกมาก ยังขาดคนที่รู้ทักษะในด้านนี้อีกมาก เรามั่นใจว่าในอีก 2-3 ปีจะเป็นการเปลี่ยนยุคของการใช้รถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า”

Scroll to Top