สดช. เผยการสำรวจ Thailand Digital Outlook ปีที่ 5 ตัวเลขการพัฒนาดิจิทัลของประเทศ

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ.2566 โดยผลการสำรวจพบว่า ความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่อง คนไทยมีการทำกิจกรรมดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น โดยเป้าหมายต่อไปในการขับเคลื่อนและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องเพิ่มความเท่าเทียม (Digital Inclusion) ให้กับประชาชนทุกกลุ่มเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต อีกทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดย่อยและขนาดย่อม ในการนำข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มมูลค่า
แก่ธุรกิจ และภาครัฐจะต้องปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล ซึ่งสามารถนำตัวชี้วัด และแนวนโยบายการพัฒนาดิจิทัลของประเทศจาก Thailand Digital Outlook ไปปฏิบัติและร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยในอนาคตให้ทัดเทียมได้เทียบเท่ากับนานาประเทศ

การสำรวจพบว่าตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศส่วนใหญ่ดีขึ้น ได้แก่ มิติการเข้าถึง การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนไทยอยู่ที่ร้อยละ 89.50 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีการเข้าถึงร้อยละ 88.00 มิติการใช้งาน สัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยร้อยละ 87.60 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 85.00) มิติอาชีพ สัดส่วนการจ้างงานของธุรกิจดิจิทัลต่อการจ้างงานทั้งหมดในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2566 คิดเป็นร้อยละ 35.96 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 34.40) มิติสังคม สัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้สูงอายุ ช่วง 55-74 ปี ในปี พ.ศ. 2566 คิดเป็นร้อยละ 71.60 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่แค่เพียงร้อยละ 63.10 และมิติการเปิดเสรีของตลาด สัดส่วนผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายสินค้า/บริการผ่านทางออนไลน์ไปตลาดต่างประเทศ ปี 2566 สูงถึงร้อยละ 31.53 เทียบกับปี 2565 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 26.29 ในมิติอื่น ๆ พบว่า มิติด้านนวัตกรรม มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรม ICT ต่อ GDP ในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.93 มิติความน่าเชื่อถือ ร้อยละผู้ประสบปัญหาถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล/ความเป็นส่วนตัว เท่ากับร้อยละ 14.52 และ มิติการเติบโตและสภาพความเป็นอยู่ สัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจดิจิทัล ปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 40.00 ของภาคอุตสาหกรรม

สำหรับประเด็นสำคัญที่พบจากผลการสำรวจฯ ประจำปี พ.ศ. 2566 พบว่า (1) ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2563 ร้อยละ 11.9 ลดเหลือร้อยละ 6.5 ในปี 2566 (2) ผู้รับบริการออนไลน์ภาครัฐร้อยละ 66.17 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการปรับเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการใช้งาน (3) ร้อยละ 75.92 ของหน่วยงานบริการปฐมภูมิทั่วประเทศมีการให้บริการออนไลน์ เพื่อเพิ่มทางเลือก/ช่องทางในการให้บริการ (4) พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตสะท้อนให้เห็นการเข้าสู่สังคมดิจิทัล โดยคนไทยมีแนวโน้มใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น ชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7 ชั่วโมง 25 นาที ต่อวัน ส่วนกิจกรรมดิจิทัลที่คนไทยใช้งานในปี 2566 มากสุด คือ
การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ตามด้วยใช้เพื่อสนทนา และ รับชม VDO Content (5) สินค้าและบริการออนไลน์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สินค้าแฟชั่น สินค้าอุปโภคบริโภค บริการ Delivery และสินค้า/บริการเพื่อความบันเทิง (6) ภาคธุรกิจตื่นตัวในเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างมาก แต่การใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ยังกระจุกตัวในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ (7) แรงงานดิจิทัลทวีความสำคัญมากขึ้น ภาคธุรกิจบางส่วนมีการจัดจ้าง Digital Nomad มาทดแทนแรงงานที่หายาก/ขาดแคลน อีกทั้งในอนาคต ยังมีความต้องการสายงานดิจิทัลอยู่อีกมาก (8) คนไทยส่วนใหญ่มีทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในการทำงาน แต่ทักษะสำคัญเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานและทักษะเพื่อรองรับอนาคตยังไม่สูง ยกเว้นคนรุ่นใหม่ในเรื่อง Coding และ (9) ปัญหาการใช้งานดิจิทัลทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์ และ SMS หลอกลวง/เว็บพนัน/ลามก ส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นของภาคประชาชน

Scroll to Top