นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เผยว่า หลังจากที่หลายฝ่ายมีการนำเสนอเรื่องของระดับหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น สภาพัฒน์ยืนยันว่าระดับหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2561 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจริง ตามที่ได้มีการแถลงไปเมื่อช่วงปลายเดือนก่อน โดยมีอัตราเติบโต 5.3 % หรืออยู่ที่ 12.34 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา แต่ถือว่ายังไม่น่ากังวล เพราะสาเหตุหลักมาจาก แนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น, ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ, การซื้อสินค้ารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ที่พุ่งสูงกว่า 12.5 % หลังสิ้นสุดการถือครองตามมาตรการรถคันแรก อีกทั้ง 73 % ของการกู้ในระบบธนาคารพาณิชย์ ยังเป็นสินค้าคงทน เช่น บ้าน ที่ดิน ที่อยู่อาศัย รถยนต์ และจักรยานยนต์
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี พบว่ายังมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆจากที่เคยสูงสุดเมื่อปี 2558 ในระดับ 80.8 % ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ก็เหลือ 77.5 % ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ก็ยังไม่น่ากังวล โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับ 2.73 % ใกล้เคียงกับ ไตรมาสก่อนหน้า ที่อยู่ในระดับ 2.72 %
อย่างไรก็ตามหนี้สินครัวเรือนยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมูลค่าหนี้สินครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วน NPL ทรงตัวในระดับสูง สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นที่ค่อยๆ เร่งตัวขึ้น หากมีปัจจัยที่มากระทบ จนส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ก็อาจทำให้ระดับนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าที่มีทิศทางเติบโตลดลง และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งในการแถลงข่าวของสภาพัฒน์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า จะทำให้เห็นภาพรวมแนวโน้ม หนี้ครัวเรือนในช่วงไตรมาสที่ 3 ชัดเจนขึ้น