สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สามของปี 2561 ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 มีอัตราการขยายตัว 3.3% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 4.6% เป็นไปตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภาคต่างประเทศ
ด้านอุปสงค์ในประเทศยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2561 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2561 รวม 9 เดือนแรกของปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.3 มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
ขณะที่สภาพัฒน์ ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยทั้งปี 61 มาที่เติบโต 4.2% หรืออยู่ที่กรอบล่างของคาดการณ์เดิมที่ 4.2-4.7% เนื่องจากคาดว่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวเหลือเพียง 7.2% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 10% ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะเติบโต 16.2% จากเดิมคาดไว้ที่ 15.4%
ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในปี 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
- การเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตซึ่งจะทำให้ความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบันสูงกว่าร้อยละ 75.0 และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้า
- ความคืบหน้าของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เริ่มสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนในภาคก่อสร้างของภาคเอกชนได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
- แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนของบริษัทต่างชาติที่มีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลักที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในปี 2561 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากร้อยละ 3.5 ในปี 2561 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2562 และคาดว่าราคาสินค้าส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ในปี 2561 ตามการชะลอตัวของราคาน้ำมัน
ในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงและเป็นปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการส่งออก
ในภาพรวมขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายไตรมาสแรกและขยายตัวในเกณฑ์สูงในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เทียบกับร้อยละ 3.6 ในปี 2561
ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2561 และปี 2562 การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือ
- การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในไตรมาสแรกของปี 2562 ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและนักท่องเที่ยวรายได้สูง และการกระจายรายได้ลงสู่เมืองรองและชุมชน
- การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยให้ความสำคัญกับ (i) การใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า (ii) การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า (iii) การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก รวมทั้งข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า และเงื่อนไขที่สำคัญ ๆ และ (iv) การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า
- การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (ii) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกัน
ทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น (iii) ชักจูงนักลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น (iv) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และ (v) การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับความต่อเนื่องของโครงการ และมาตรการสำคัญในช่วงหลังเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง - การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งมาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาระการชำระหนี้ และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
- การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่องโดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณต่าง ๆ และการขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง และภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
- การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการขยายตัวจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ