นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมาโดยลำดับตั้งแต่ พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา โดยฉบับนี้เป็นฉบับที่ 8 ที่ได้มีการแก้ไขเพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์และนโยบายรัฐบาลที่จะลดขั้นตอนการทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล โดย พ.ร.บ.มาตรฐานฯ ฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ.มาตรฐานฯ ฉบับนี้ เพื่อให้การกำหนดมาตรฐานของ สมอ. รวดเร็วทันต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทำให้การกำกับดูแลการทำและนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถควบคุมและป้องกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ท้องตลาดได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม นอกจากนี้ ยังได้แก้ไขบทลงโทษให้สูงขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหลายชนิดมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของประเทศเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินการเปรียบเทียบปรับ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบค่าปรับเป็นผู้เปรียบเทียบปรับเพื่อให้เกิดความรอบคอบยิ่งขึ้น เช่น โทษสำหรับผู้ทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นมาตรฐานบังคับโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. เดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แก้ไขเป็น มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษของผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แก้ไขเป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น ทำให้ สมอ. สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้รวดเร็วขึ้น ลดภาระทางคดี และยังคำนึงถึงการจัดการกับซากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาว์นโหลด พ.ร.บ. มาตรฐานฯ ฉบับนี้ได้ที่เว็บไซต์ สมอ. www.tisi.go.th
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “เจตนารมณ์ของการแก้ไข พ.ร.บ. มาตรฐานฯ ฉบับนี้ ก็เพื่อขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานด้านการมาตรฐานของ สมอ. ให้มีความรวดเร็ว ชัดเจน สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและตลาดการค้าโลกในปัจจุบัน และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น พร้อมกับปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าต่างๆ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ”