สศค.ยันปรับขึ้นค่าแรง ไม่กระทบเงินเฟ้อ ดันการบริโภคสูงขึ้น จีดีพีปีนี้ยังโตได้ 4.2%

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท โฆษกประจำกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตามมติคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศ 5-22 บาท หรือประมาณ 308-330 บาทต่อวันนั้น จะทำให้การบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.ได้คำนวณรวมการเติบโตของประมาณจีดีพีในปีนี้แล้วว่าจะขยายตัวได้ 4.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว เพราะราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ไม่เป็นตัวกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น จึงไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

ส่วนมาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวมกันไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ประมาณ 400,000 ราย ให้สามารถนำรายจ่ายจากการจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้างรายวันมาลดหย่อนภาษีได้ 1.15 เท่าของรายจ่ายดังกล่าว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.2561 นั้น จะช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการมีภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพียง 1 บาทต่อคนเท่านั้น ซึ่งถือว่าส่งผลดีต่อผู้ประกอบการโดยรวม แม้ว่ารัฐจะสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวถึง 5,400 ล้านบาทก็ตาม

Related Posts

Scroll to Top