2020 ตลาดรถยนต์หรูก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 น้อยกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ๆ เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ในตลาดโลก สะท้อนได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ป้ายแดงประเภทรถยนต์หรูในปี 2020 ซึ่งมีอัตราการหดตัวที่น้อยกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ โดยหดตัวเพียง -6.4%YOY ในขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ป้ายแดงของรถยนต์ประเภทอื่น ๆ หดตัวสูงถึง -24.1% YOY
สำหรับปี 2020 นั้น ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ป้ายแดงในกลุ่มรถยนต์หรูมีจำนวนทั้งสิ้น 29,210 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 5.4% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ป้ายแดงประเภทรถยนต์นั่งทั้งหมดในไทยในปี 2020 อนึ่ง ยอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงของกลุ่มรถหรูที่หดตัวน้อยกว่าดังกล่าว สะท้อนถึงความต้องการและกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของรถยนต์หรูที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่า เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้และกำลังซื้อสูง
–ทางหลวงชนบท เดินหน้าเตรียมแผนก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เชื่อมพัทลุง – สงขลา ร่นระยะทาง 80 กิโลเมตร พร้อมดันเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ในอนาคต
–ธอส. จัดงาน G H Bank Management Symphony Meeting 2022 ถ่ายทอดแผนยุทธศาสตร์ธนาคารปี 65
ในขณะที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของรถยนต์รุ่นปกติทั่วไปที่ขายในท้องตลาดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมาซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้และกำลังซื้อต่ำกว่า รวมทั้งยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มากกว่าโดยเปรียบเทียบ โดยพบว่าแบรนด์รถยนต์หรูที่ได้รับความนิยมสูงสุดในไทยคือ Mercedes-Benz ซึ่งในปี 2020 มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 42.7% รองลงมาได้แก่ BMW และ Volvo ซึ่งทั้ง 3 แบรนด์นี้ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากถึงเกือบ 90% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์หรูทั้งหมดในไทย
สำหรับปี 2021 ยอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงสำหรับรถยนต์หรูของไทยหดตัวมากขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย โดยหดตัว -9.5%YOY ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์โลกที่ยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกในปี 2021 พบว่ายอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงของรถยนต์ประเภทอื่น ๆ หดตัวที่ -4.4%YOY ซึ่งการที่ยอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงของรถยนต์หรูหดตัวสูงกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ๆ ดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มยาวนานกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในอาเซียน
โดยเฉพาะในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นฐานหลักในการประกอบและทดสอบชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ก่อนส่งมอบสินค้า ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยแรงงานคนเป็นหลัก ซึ่งกระบวนการผลิตที่ล่าช้าดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์หรูในไทยเช่นเดียวกัน สะท้อนได้จากการรอรับรถที่นานขึ้น จากเดิมที่เวลาการรับมอบจะอยู่ที่ไม่เกิน 3-4 เดือน แต่จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้รถยนต์หรูบางรุ่นนั้นอาจต้องชะลอเวลาการส่งมอบเป็นปี อันเนื่องมาจากการที่รถยนต์หรูมีฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ ในรถที่ทันสมัยกว่า จึงทำให้จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์มากกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ๆ ตามไปด้วย ทำให้ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์นั้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์หรูมากกว่ารถยนต์ประเภทอื่นโดยเปรียบเทียบ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตลาดในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์โลกที่เชื่อว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว รวมถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามลำดับ สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) ในเดือนตุลาคม 2021 ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนกันยายน สะท้อนว่าความต้องการของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศ ทั้งในส่วนของรถยนต์ทั่วไปและรถยนต์หรู
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากการจัดงานแสดงรถยนต์ประจำปี โดยเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน Motor Expo 2021 โดยพบว่า มียอดจองรถยนต์หรูในงานรวมทั้งสิ้น 4,849 คัน หรือคิดเป็น 15.3% ของยอดจองรถยนต์ทั้งหมดในงาน เพิ่มขึ้นจากยอดจองรถยนต์หรูในปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 3,783 คัน หรือคิดเป็น 11.2% ของยอดจองรถยนต์ทั้งหมดในงาน ซึ่งยอดจองรถยนต์หรูที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าตลาดรถยนต์หรูในไทยยังคงคึกคักและได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าแบรนด์ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ Mercedes-Bens, BMW, Lexus, Volvo และ Peugeot ตามลำดับ
สำหรับปี 2022 EIC คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดรถยนต์หรูของไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวกราว 14%YOY ตามการทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ยังต้องจับตามองความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron รวมทั้งสายพันธุ์ใหม่ ๆ ในไทย
ทั้งนี้ยอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงรถยนต์หรูในปี 2022 ที่คาดว่าจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้นั้น โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้นตามลำดับในปีนี้ รวมทั้งการที่ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ น่าจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจแบบออฟไลน์ควบคู่ไปกับการทำการตลาดแบบออนไลน์ได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงในเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะการใช้จ่ายในภาพรวมของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับแนวโน้ม
การเติบโตในระยะยาวนั้น EIC มองว่าตลาดรถยนต์หรูในไทยจะสามารถเติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโต
ของเศรษฐกิจ อีกทั้ง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) และยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในตลาดที่เปลี่ยนไป ก็จะมีส่วนช่วยสร้างความน่าสนใจและกระตุ้นความต้องการในตลาดรถยนต์หรูให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย
แนวโน้มการแข่งขันในตลาดรถยนต์หรูรุนแรงมากขึ้น โดยหลายแบรนด์มีการเพิ่มเซ็กเมนต์ใหม่อย่างเช่น กลุ่มรถ compact car ที่มีราคาต่ำลงมาเพื่อเจาะกลุ่มกำลังซื้อปานกลางถึงบนได้มากขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาจากแบรนด์รถยนต์หรูต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย จะพบว่า ค่ายรถหรูเริ่มเข้ามาเจาะตลาดใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงบนที่มีความชอบในรถยนต์หรูและเริ่มมีรายได้ที่สูงขึ้น
โดยค่ายรถหรูได้ทำการปรับฐานราคาขายที่กว้างขึ้นและมีการกำหนดราคาเริ่มต้นต่ำสุดอยู่ที่ 2 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นยอดขายในกลุ่มตลาดใหม่ เช่น รถยนต์ Mercedes-Benz รุ่น A200, รถยนต์ BMW รุ่น 2 Series Gran Coupe เป็นต้น ซึ่งรถหรูรุ่นดังกล่าวจะสามารถเป็นตัวเลือกให้แก่กลุ่มตลาดใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ญี่ปุ่นรุ่นแพง เช่น Honda Accord, Toyota Camry ที่มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,500,000 บาทขึ้นไป ส่งผลให้กลุ่มตลาดที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้นสามารถครอบครองรถยนต์หรูได้มากขึ้น
ทั้งนี้ EIC ได้ยกตัวอย่างการคำนวณการขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถ Mercedes-Benz รุ่น A200 ซึ่งมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1.99 ล้านบาท ซึ่งโดยปกติแล้วจะมียอดดาวน์ระหว่าง 15-25% และมียอดการผ่อนชำระอยู่ที่ราว 24,000-40,000 บาทต่อเดือน (ยอดการผ่อนชำระจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในเรื่องระยะเวลาในการผ่อนและการวางเงินดาวน์) โดยหากใช้ค่ากลางของยอดผ่อนชำระดังกล่าวคือ 24,000 บาทต่อเดือน กลุ่มลูกค้าเป้าหมายควรจะต้องมีรายได้ประจำมากกว่า 80,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป (คำนวณโดยให้ยอดผ่อนชำระรถยนต์มีสัดส่วนไม่เกิน 35% ของรายได้ประจำทั้งหมดต่อเดือน)
ตลาดรถยนต์หรูยังมีโอกาสเติบโตจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ที่แม้ยังมีสัดส่วนไม่มากแต่มีโอกาสเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้หากพิจารณาจากข้อมูลรายได้ครัวเรือนในไทยในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าจำนวนครัวเรือนซึ่งมีรายได้ต่อเดือนมากเพียงพอสำหรับผ่อนชำระและมีศักยภาพในการครอบครองรถยนต์หรูมีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัว และไม่ได้ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยจากข้อมูลล่าสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 พบว่าจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป มีสัดส่วน 2.5% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในไทย หรือมากถึงเกือบ 6 แสนครัวเรือน ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสของตลาดรถยนต์หรูที่ยังเติบโตได้อีกมากในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศในภาพรวม จะพบว่าได้รับแรงหนุนหลักมาจากการใช้จ่ายของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติ COVID-19 น้อยกว่า อีกทั้ง ยังมีการสะสมเงินออมไว้จำนวนหนึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ สะท้อนได้จากปริมาณเงินฝากในระบบในช่วงหลังเกิดวิกฤติ COVID-19 (กุมภาพันธ์ 2020 จนถึงพฤศจิกายน 2021) ที่เพิ่มขึ้นถึง 2.01 ล้านล้านบาท ซึ่งหากวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมจะพบว่า ปริมาณเงินฝากในระบบที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว มาจากการเพิ่มขึ้นของบัญชีเงินฝากที่มีเงินฝากในบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท มากถึง 61.9% ซึ่งจำนวนบัญชีที่มีเงินฝากในระดับนั้นมีสัดส่วนที่น้อยมากหรือคิดเป็น 0.1% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด
ในประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวสามารถสะท้อนให้เห็นถึงสัดส่วนผู้มีรายได้สูงที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักในตลาดรถหรูในไทยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวน้อยกว่ากลุ่มรายได้อื่นโดยเปรียบเทียบ
และคาดการณ์ว่ายังมีแนวโน้มที่เติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต
จากการวิเคราะห์ของ EIC พบว่าปัจจุบันกลุ่มบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อย่างเป็นทางการ (Official dealer) มีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันมากกว่ากลุ่มผู้นำเข้าอิสระ หรือ Grey Market เนื่องจากสามารถทำราคาขายได้ถูกลงค่อนข้างมากจากการที่มีโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย อีกทั้ง ยังมีการทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการให้บริการหลังการขายและการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ (After-sale services) ที่ยาวนานขึ้นกว่าในอดีต โดยจากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมซื้อรถยนต์หรู
จากบริษัทตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการมากกว่าการซื้อรถหรูจากผู้นำเข้าอิสระ หรือ Grey Market ทำให้ในระยะหลังกลุ่มบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เริ่มมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้นเรื่อย ๆ จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่
1) การเข้ามาจัดตั้งโรงงานประกอบรถหรูในไทย เช่น BMW และ Mercedes-Benz ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลงและสามารถทำราคาขายได้ถูกลงจากอดีตค่อนข้างมาก
2) การผลิตรถยนต์หรูไฟฟ้าที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น BMW ที่ได้เปิดตัวรถหรูรุ่น iX และ iX3 ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าที่ที่ผลิตในไทย รวมไปถึง Mercedes-Benz ที่ได้ผลิตรถหรูไฟฟ้ารุ่น The New EQS ที่เป็นรถไฟฟ้า 100%
3) การทำการตลาดเชิงรุกด้วยการขยายระยะเวลาของโปรแกรมการบำรุงรักษา เช่น BMW ที่มีการกำหนดโปรแกรมบำรุงรักษา BMW Service Inclusive (BSI) จากเดิมที่กำหนดระยะเวลาบำรุงรักษา 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร
เป็นการขยายโปรแกรมบำรุงรักษา BSI นานถึง 10 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมถึงการบำรุงรักษาตามระยะ (รวมค่าน้ำมัน ค่าแรงและอะไหล่แท้บีเอ็มดับเบิลยู) ส่วนค่าย Mercedes-Benz มีโปรแกรมบำรุงรักษาที่เรียกว่า MB Service Plus ซึ่งขยายการรับประกันคุณภาพของรถไม่ว่าจะเป็นการบำรุงรักษา การเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์ ซึ่งขยายการคุ้มครองได้นานสูงสุดถึง 8 ปี และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถยนต์หรูในระยะยาวซึ่งค่อนข้างสูง
นับเป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ผู้ซื้อให้ความสำคัญประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์
การปรับกลยุทธ์การตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และการให้บริการแบบ Personalized services ของค่ายรถยนต์หรูต่าง ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการแข่งขันสำคัญที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศนั้น ตัวอย่างเช่น
บริษัท Mercedes-Benz (ประเทศไทย) ที่ได้มีการเปิดตัววิดีโอแนะนำรถยนต์ 10 รุ่นยอดนิยม บนหน้า Facebook เพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในช่วงล็อกดาวน์ อีกทั้ง มีการนำเสนอบริการดูแลลูกค้าทั้งเก่าและใหม่แบบส่วนตัว (Personalized) มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังโชว์รูมรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านการซ่อมบำรุง หรือบริการด้านการขาย เช่น การทดลองขับ (Test drive) เป็นต้น
เช่นเดียวกับแบรนด์ Maserati ที่ได้เปิดตัว Maserati’s One-on-One Solution ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับการติดต่อนัดหมายแบบส่วนตัวกับลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้บริการดูแลรถตามความต้องการส่วนบุคคลของลูกค้ารายนั้น ๆ ขณะที่แบรนด์ BMW ก็มีบริการ At-Home Test Drive โดยมีบริการนำรถยนต์ไปส่งมอบให้ลูกค้าทดลองขับที่บ้าน
ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดเหล่านี้ช่วยทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงการดูแลที่เป็นพิเศษและเป็นส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งช่วยตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงได้เป็นอย่างดี และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ช่วยให้ค่ายรถหรูยังคงสามารถรักษาฐานผู้บริโภคที่มีรายได้สูงเอาไว้ได้
อีกหนึ่งปัจจัยหนุนที่มีผลต่อแนวโน้มการเติบโตของตลาดรถยนต์หรูคือ พฤติกรรมการใช้จ่ายของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูงในเรื่อง “การลงทุนตามความหลงใหล” หรือ Passion Investment ซึ่งจะเป็นการลงทุนในของสะสมหรือของรักต่าง ๆ ตามความชอบหรือความหลงใหลส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเพชร เครื่องประดับ กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกา รองเท้า ไวน์ งานศิลปะ หรือแม้แต่รถยนต์
ซึ่งรถยนต์หรูหรือรถคลาสสิกก็เป็นหนึ่งในของสะสมที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่มีกำลังทรัพย์สูงค่อนข้างมากและนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุน ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ช่วยให้ตลาดรถยนต์หรูยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก โดยเราพบว่า ในช่วงหลังสถานการณ์ COVID-19 ที่รัฐบาลมีการจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศ
ทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงและไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้หันมาลงทุนของสะสม (Passion Investment) ต่าง ๆ มากขึ้นแทน โดยไม่ได้มองว่าเป็นการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ในทางกลับกัน มองว่าการลงทุนในรถยนต์หรูเป็นของสะสม และในบางรุ่นอาจสามารถสร้างกำไรให้กลุ่มผู้มีกำลังซื้อได้ โดยเฉพาะรถยนต์หรูประเภทระดับ Super car และ Hypercar ซึ่งเป็นรถที่มีสมรรถนะสูง ผลิตออกมาจำกัดและและราคาที่สูงกว่ารถหรูทั่วไป ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างดีในอนาคต เช่น Lamborghini, Aston Martin และ Ferrari เป็นต้น
ความท้าทายของตลาดรถยนต์หรูและ mega trend ที่ต้องจับตามองในระยะต่อไปภายใต้โอกาสการเติบโตของตลาดรถยนต์หรูในไทยดังกล่าวข้างต้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายด้านอื่น ๆ ที่ต้องจับตามอง ทั้งในส่วนของอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์, ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์โลก รวมไปถึงความต้องการของตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย
ประเด็นแรก คืออัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคารถยนต์หรูในไทย เนื่องจากรถยนต์หรูส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจำหน่ายในไทย ทั้งนี้ปัจจุบันมีเพียงค่าย Mercedes-Benz และ BMW เท่านั้น ที่มีโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย และยังมีการผลิตแค่เพียงบางรุ่นเท่านั้น ขณะที่รถยนต์หรูแบรนด์อื่น ๆ นั้น จะเป็นการนำเข้ามาจำหน่ายทั้งหมด ดังนั้น อัตราภาษีนำเข้ารถยนต์เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบโดยตรงต่อราคาจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันผู้นำเข้าจะยังคงต้องแบกรับภาษีนำเข้ารถยนต์ที่สูง
ทั้งนี้การคิดอัตราภาษีรถยนต์นำเข้าในปัจจุบัน จะคำนวณจากราคาต้นทุนราคาสินค้านำเข้าแบบ CIF (COST + INSURANCE + FREIGHT) ซึ่งเป็นราคาขายรถยนต์บวกด้วยค่าอากร ค่าประกันภัย และค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยผู้นำเข้าต้องเสียอัตราภาษีรถยนต์นำเข้า ซึ่งประกอบไปด้วย
1) ภาษีอากรขาเข้า 80% ของราคารถยนต์ CIF ซึ่งจะต้องจ่ายการนำรถออกจากท่าเรือ
2) ภาษีสรรพสามิต ซึ่งจะอยู่ระหว่าง 30-50 % โดยอัตราการจัดเก็บภาษีจะแตกต่างกันตามความจุกระบอกสูบ ขนาดเครื่องยนต์และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งอัตราภาษีสรรพสามิตจะคำนวณจาก (ราคารถยนต์ CIF + อากรขาเข้า + ภาษีค่าธรรมเนียมอื่นไม่ที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) x อัตราภาษีสรรพสามิต / 1 – ( 1.1 x อัตราภาษีสรรพสามิต )
3) ภาษีมหาดไทย 10% โดยอัตราการจัดเก็บภาษีกระทรวงมหาดไทย 10% ที่คำนวณจากค่าภาษีสรรพสามิต เช่น จะต้องชำระภาษีสรรพสามิต = 50,000 บาท พร้อมด้วยภาษีมหาดไทย10% ของค่าภาษีสรรพสามิต = 5,000 บาท รวมเสียภาษีสรรพสามิต+ภาษีมหาดไทย = 55,000 บาท
4) ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% ของราคารถยนต์ CIF ซึ่งโดยรวมแล้ว รถยนต์ที่นำเข้ามาขายในไทยในปัจจุบันจะต้องเสียภาษีรวมกันมากถึงราว 175-300% ของราคารถยนต์
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ที่กรมสรรพสามิตได้มีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตของรถยนต์นำเข้าด้วยการคำนวณจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ส่งผลให้รถยนต์นำเข้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยมีการเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมานิยมซื้อรถยนต์เครื่องยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนเครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน (ICE) มากยิ่งขึ้น ประกอบกับมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากครม. ในต้นปี 2022 ที่จะทำให้ผู้บริโภคเสียภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าน้อยลง
ประเด็นถัดมา คือปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์หรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรุ่นที่มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยและจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์จำนวนมาก ซึ่ง ในช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายจำเป็นต้องปรับแผนการผลิตใหม่ หรือต้องลดอุปกรณ์เสริมบางรายการสำหรับรถยนต์บางรุ่นชั่วคราว เพื่อลดผลกระทบจากความล่าช้าในการผลิต อาทิ
Porsche ที่จำเป็นต้องตัดตัวเลือก (Option) พวงมาลัยแบบไฟฟ้าและเปลี่ยนเป็นพวงมาลัยธรรมดาที่ปรับโดยใช้มือแทน จากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2021 หรือล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ทาง Mercedes-Benz ได้ประกาศปิดสายการผลิตที่โรงงานในประเทศเยอรมนีเป็นการชั่วคราวจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์
เช่นเดียวกับ Jaguar และ Land Rover ที่ได้ประกาศขยายระยะเวลารอคอยสำหรับรถยนต์บางรุ่นในโมเดลปี 2022 ซึ่งภาวะดังกล่าวนอกจากจะส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตลงเพราะระยะเวลาการส่งมอบ (Lead Time) ที่นานขึ้นแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์ยังต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากต้นทุนการขนส่งและวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างทองแดงที่ปรับราคาสูงขึ้น 40%YOY อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในตลาดและสำนักวิจัย IHS Markit ได้คาดการณ์ว่าสถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์นี้จะค่อย ๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้นภายในปี 2022 และสามารถคลี่คลายลงได้ในปี 2023 ซึ่งจะเป็นช่วงที่โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ส่วนใหญ่ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างสามารถเริ่มเดินสายการผลิตได้ ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยเติมอุปทานที่ขาดแคลนในตลาดได้มากขึ้นพอสมควร
ประเด็นสุดท้าย คือแนวโน้มตลาดและความต้องการที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญสำหรับตลาดรถยนต์หรู โดย EIC พบว่าเทรนด์รถยนต์พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกำลังเข้ามามีบทบาทในตลาดโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งค่ายรถยนต์หรูต่างก็มีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์หรูรายใหญ่หลายค่าย
ต่างมุ่งวิจัยและพัฒนาการผลิตรถยนต์ของตนจากที่ใช้เครื่องยนต์หรือ ICE ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่หรือปลั๊กอินไฮบริด(Plug-in Hybrid) ตัวอย่างเช่น การเปิดตัว Mercedes-Benz EQC, Audi E-Tron GT และ Porsche Taycan
ซึ่งเป็นรถยนต์รุ่นที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% สำหรับในไทยเองก็มีความพยายามผลักดันการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยตามแผน 30@30 ตามที่ภาครัฐตั้งเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตทั้งหมดในปี 2030 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของอาเซียน
โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่าง ๆ ที่มีการลงทุนผลิต EV ภายในประเทศ ซึ่งค่ายรถยนต์หรูอย่าง Mercedes-Benz กับ BMW ก็เข้าร่วมเช่นกัน
โดย Mercedes-Benz มีการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่เพื่อการประกอบรถไฟฟ้า และจะเริ่มผลิตรถรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ในปี 2022 โดยในขั้นต้นจะเริ่มจากมาตรการส่งเสริมการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น
ซึ่งล่าสุดกระทรวงการคลังได้เตรียมเสนอมาตรการทางภาษีที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาที่ถูกลง โดยจะกำหนดให้
1) กรณีแรก สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% (ในปี 2022-2025) และลดภาษีนำเข้าศุลกากรสูงสุด 40% (ในปี 2022-2023)
2) กรณีที่สอง สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าราคามากกว่า 2 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท จะลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% (ในปี 2022-2025) และลดภาษีนำเข้าศุลกากรสูงสุด 20% (ในปี 2022-2023) โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทรถยนต์ที่นำเข้านั้น ๆ ต้องมีแผนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
ในประเทศไทยเพื่อชดเชยการนำเข้าภายใน 2 ปี ซึ่งจะต้องผลิตชดเชยในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5 โดยการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเพื่อชดเชยการนำเข้า 1.5 คัน ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งนโยบายดังกล่าวนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้า เมื่อเข้าร่วมโครงการ เช่น รถยนต์ไฟฟ้ายุโรปเดิมเสียภาษีนำเข้า 80% จะได้รับการลดภาษีเหลือ 60% รถยนต์ไฟฟ้าญี่ปุ่นเดิมเสียภาษีนำเข้า 20% จะได้รับการลดภาษีเหลือ 0% เมื่อลดภาษีนำเข้าจากทั้งสองประเทศผู้ส่งออกแล้วนั้น จะช่วยเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางการตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาตินั้น ๆ กับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากประเทศจีนที่ไม่เสียอัตราภาษีนำเข้าจากกรอบข้อตกลงทางการค้าอาเซียน-จีน ดังนั้น ในอนาคตจึงนับเป็นโอกาสที่ดีของผู้บริโภคที่มีโอกาสซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่ต่ำลงและมีแบรนด์ให้เลือกซื้อที่หลากหลายมากขึ้น
นอกจากเทรนด์พลังงานทางเลือกแล้วค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ก็ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในแบบ New Normal มากขึ้น อย่างเช่น การเชื่อมต่อและส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย 5G และ Internet of things ที่เรียกว่า Connected Car ที่ครอบคลุมการการสื่อสารกับสิ่งต่าง ๆ รอบคันรถ (Vehicle-to-Everything) ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์การขับขี่ที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ สามารถใช้ข้อมูลที่มีต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ต่อไปได้ เช่น ข้อมูลปลายทางส่วนใหญ่ของการขับขี่แต่ละครั้งคือร้านอาหาร ระบบจะนำข้อมูลเหล่านี้มาคำนวณและทางผู้ให้บริการจะได้เสนอโปรโมชันร้านอาหารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกและตอบสนองความชอบของผู้ขับขี่นั้น ๆ ได้อย่างตรงตามความต้องการ รวมถึงมีการให้ความสำคัญกับฟังก์ชันที่ช่วยสร้างความปลอดภัยและการลดอุบัติเหตุให้กับผู้ขับขี่ด้วยการขับเคลื่อนโดยใช้ระบบยานยนต์อัตโนมัติ เช่น ระบบควบคุมความเร็วคงที่พร้อมการปรับความเร็วอัตโนมัติ (ACC: Adaptive Cruise Control) ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ (AEB: Autonomous Emergency Braking) ระบบการเตือนการออกนอกช่องทางเดินรถ (LKA: Lane keeping assistance)
ขณะเดียวกัน Car sharing ก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจในอนาคตที่น่าจับตามอง และมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มธุรกิจรถหรูเช่นกัน ทั้งนี้หากเปรียบเทียบระหว่างการใช้บริการธุรกิจ Car sharing กับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขอนามัย เราจะพบว่าธุรกิจ Car sharing เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า เพราะนอกจากจะลดความเสี่ยงจากการเดินทางร่วมกับผู้อื่นในรถโดยสารสาธารณะแล้ว ยังช่วยลดความแออัดของการจราจร ช่วยลดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยบรรเทาปัญหาทางมลภาวะและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
โดยธุรกิจรถหรูที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์ Car sharing ได้แก่ บริการธุรกิจที่เป็นระบบสมาชิก (Subscription) ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะคล้ายกับการเช่ารถยนต์แต่มีเงื่อนไขที่สั้นกว่าและยืดหยุ่นมากกว่า เพื่อให้ลูกค้าสามารถขับขี่รถยนต์หรูที่มีคุณภาพสูงในราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งโมเดลในลักษณะนี้เป็นที่นิยมมากในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นเจ้าของทรัพย์สินน้อยกว่าคนรุ่นเก่า
โดยภายใต้ Subscription models ลูกค้าจะได้รับการบริการที่จะครอบคลุมถึงการบำรุงรักษาหรือซ่อมรถยนต์ ซึ่งมีแนวทางใกล้เคียงกันกับเป็นสมาชิกของบริการสตรีมมิ่งต่าง ๆ ที่เมื่อสมัครเป็นสมาชิกและชำระค่าสมาชิกรายเดือนแล้วจะสามารถใช้สินค้าของบริการนั้นได้หลากหลายสินค้า ซึ่งมีค่ายรถยนต์หรูหลายค่ายที่ดำเนินธุรกิจแบบระบบสมาชิกเช่นเดียวกัน เช่น Porsche ที่เปิดตัวระบบสมาชิกรายเดือนที่ชื่อว่า Porsche Drive ในสหรัฐฯ ซึ่งลูกค้าที่เป็นสมาชิกสามารถใช้รถยนต์หรูได้นานสุดถึง 3 เดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายจะแตกต่างไปตามจำนวนรถยนต์ที่สมาชิกต้องการใช้
ในขณะที่บริการ Subscription จะเป็นการเช่าในระบบสมาชิกที่ค่อนข้างเป็นระยะเวลาที่ยาวนั้น ก็มีธุรกิจบริการเช่ารถยนต์ระยะสั้น (Car Rental) ที่ได้รับความนิยมจากการตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีความต้องการขับขี่รถยนต์หรูแต่ไม่ได้มีความต้องการถือครองไว้ใช้ในระยะยาวเพราะด้วยภาระค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน เช่น บริษัท Prime Cars Rental ที่ให้บริการเช่ารถยนต์หรู ตั้งแต่ Premium Segment ไปจนถึงรุ่น Super car ซึ่งรถเช่าทุกคันมาพร้อมกับ ประกันภัยชั้น 1 ด้วยอัตราค่าบริการที่แตกต่างไปตามรุ่นของรถยนต์และระยะเวลาที่ต้องการเช่า เช่น ราคาเช่ารถเบนซ์รุ่นต่าง ๆ จะเริ่มต้นเพียง 8,900 บาท ไปจนถึง 65,000 บาทต่อวัน ไปจนถึงการเช่ารถยนต์หรู Ultra-luxury อย่าง Rolls-Royce Ghost ที่มีอัตราเช่า 150,000 บาทต่อวัน
โดยภาพรวมแล้ว EIC มองว่าตลาดรถยนต์หรูในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้และกำลังซื้อสูง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักและเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ประกอบกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรถหรูของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ให้ทันสมัย และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รถยนต์หรูพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
EIC คาดการณ์ว่าในปี 2022 มูลค่าตลาดรถยนต์หรูของไทยจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุค New normal โดยมีแนวโน้มปรับการขายเป็นผ่านช่องทาง Omni Channel มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปการลงทุนของสะสมตามความหลงใหล หรือ Passion Investment ในกลุ่มรถยนต์หรูที่สามารถสร้างกำไรให้กลุ่มผู้มีกำลังซื้อได้ดีในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการการสนับสนุนจากภาครัฐจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของตลาดรถยนต์ในไทย
รวมไปถึงการผลิตรถยนต์หรูที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้ตลาดรถยนต์หรูของไทยสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องไปกับเทรนด์ความนิยมของโลกในอนาคตต่อไป
อย่างไรก็ดี ตลาดรถยนต์หรูยังคงเผชิญกับความท้าทายล่าสุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron ที่อาจส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกที่ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตรถยนต์หรูบางรุ่น ซึ่งเป็นประเด็นความท้าทายที่ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทรู คอร์ปอเรชั่น เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ จำนวน 5 ชุด แก่นักลงทุนทั่วไป เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมั่นคงในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยมีอายุตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี พร้อมอัตราดอกเบี้ยคงที่ระหว่าง…
'กรุงศรี ออโต้' คว้ารางวัลอันทรงเกียรติถึง 3 สาขา จากเวที Future Trends Awards 2025 ได้แก่ รางวัล The Most Innovative…
HMD Global ตอกย้ำความเป็นแบรนด์ยุโรป จับมือบาร์ซา จัดเต็มสมาร์ทโฟนรุ่นพิเศษ พร้อมกิจกรรม "HMDxBarça Go Goal Gold!!" เอาใจแฟนบอลลุ้นทองคำและของรางวัลเพียบ Human Mobile Devices (HMD)…
Biztalk ประจำวันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน 2568 ชวนคุยเรื่องการออกกฎระเบียบบังคับให้สายการบินใช้น้ำมันลดโลกร้อน (น้ำมันอากาศยานยั่งยืน= SAF) จะเริ่มใช้จริงได้เมื่อไหร่ มีอะไรที่ต้องพิจารณาบ้าง คุยกับ พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย…
ข่าวดีสำหรับคุณแม่! ไปรษณีย์ไทย จับมือ กรมอนามัย ยกระดับการส่งน้ำนมแม่ทั่วประเทศ ด้วยบริการ EMS ด่วนพิเศษ ฟรีค่าจัดส่ง ตอกย้ำสายใยรักจากอกแม่ สู่ลูกน้อยที่อยู่ห่างไกล หนุนเด็กแรกเกิดรับคุณค่าอาหารจากนมแม่เต็มที่ เริ่มแล้ววันนี้! บริษัท ไปรษณีย์ไทย…
Siam.AI Cloud สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยบนเวทีระดับโลก โดยเข้าร่วมงาน NVIDIA GTC 2025 พร้อมขึ้นกล่าวในหัวข้อสำคัญ "Empower the Ecosystem with Sovereign Foundation Models"…
This website uses cookies.