ส.อ.ท. เผยดัชนีอุตฯ พ.ย. สูงสุดในรอบ 66 เดือน เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าชดเชยวันหยุด และจัดโปรโมชั่นต้อนรับปีใหม่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 จำนวน 1,210 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 30.1, 36.3, 33.6 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 37.8, 16.5, 13.0, 22.0 และ 10.7 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 80.2 และ 19.8 ตามลำดับ

โดย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 92.6 ในเดือนตุลาคม โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในทุกองค์ประกอบ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

จากการสำรวจพบว่า ในเดือนพฤศจิกายน ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 66 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าเพื่อชดเชยวันทำงานที่น้อยกว่าปกติในช่วงเดือนธันวาคม ขณะเดียวกันพบว่าผู้ประกอบการ   มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น กลุ่มอาหาร กลุ่มยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ต้นทุนประกอบการได้รับผลดีจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงและอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงจากเดือนตุลาคม

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 107.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.7  ในเดือนตุลาคม สะท้อนความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ในระดับที่ดี ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2561 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม (ตารางที่ 5)

อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ระดับ 76.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 73.6 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมหล่อโลหะ, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.7 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง  ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ระดับ 92.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.2  ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 108.9 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ระดับ 112.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 111.1 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมเคมี, อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 111.3 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

ในระยะสั้น ผู้ประกอบการเสนอให้ภาครัฐใช้โอกาสจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าที่ทั้งสองประเทศมีข้อพิพาท ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรปรับตัว เน้นการขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดอาเซียน

Scroll to Top