‘หลังมีนาคม บรรยากาศการลงทุนจะดีขึ้น’ โดย ไพบูลย์ นลินทรางกูร

ปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งหลายที่คุกคามตลาดหุ้นอยู่ในช่วงนี้ ทั้งหมดจะมีความชัดเจนขึ้นหลังเดือนมีนาคม และผมเชื่อว่าจะคลี่คลายไปในทางบวก ซึ่งจะช่วยทำให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมดีขึ้น เงินทุนต่างชาติมีแนวโน้มสูงที่จะไหลกลับ และตลาดหุ้นมีโอกาสสูงที่จะฟื้นตัว ปัจจัยที่เป็นแรงปะทะ หรือ headwinds ของตลาดหุ้นในช่วงนี้มีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ

  • 1) การชะลอตัวพร้อมๆ กันของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะจีน ที่เราอาจเห็นตัวเลขการเติบโตที่ 5% กว่าๆ ในบางไตรมาสของปีนี้
  • 2) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังไม่ได้ข้อยุติ
  • 3) การเจรจาแผน Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปที่ยังไม่ลงตัว และ
  • 4) การเมืองไทยที่เริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

โชคดีที่นักลงทุนเริ่มคลายกังวลกับนโยบายการเงินของสหรัฐ หลัง Fed ส่งสัญญานชัดว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกในเร็วๆ นี้ และจะดึงสภาพคล่องออกจากตลาดเท่าที่จำเป็น ไม่เช่นนั้น แนวโน้มตลาดหุ้นจะประเมินยากขึ้นมาก

เดือนมีนาคมคือเดือนสำคัญ เพราะวันที่ 1 คือวันที่สหรัฐกำหนดจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลลาร์ จาก 10% เป็น 25% ถ้าจีนและสหรัฐไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้

ถัดจากนั้นอีกสามสัปดาห์ วันที่ 24 คือวันที่เราจะได้ทราบกันว่าอนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะมีเสถียรภาพแค่ไหน และอีก 5 วันต่อมา วันที่ 29 คือวันที่สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ จะเป็นการออกแบบไร้ข้อตกลง (crash Brexit) แบบเบ็ดเสร็จ (hard Brexit) หรือ แบบผ่อนปรน (soft Brexit) ยังไม่มีใครคาดเดาได้ แต่ถ้าเป็นแบบแรก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษและยุโรปอย่างมาก

ในมุมมองส่วนตัว ผมค่อนข้างมั่นใจว่าปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวถึงทั้งหมดจะลงเอยด้วยดี การที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีน สหรัฐ อังกฤษ และ สหภาพยุโรป เริ่มเข้าสู่วงจรขาลง หลังขยายตัวอย่างร้อนแรงมาหลายปีติดต่อกัน จะเป็นแรงกดดันให้ผู้นำประเทศเหล่านี้ต้องพยายามหาทางออกที่ประนีประนอมที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้า หรือ เรื่อง Brexit เพื่อประคองเศรษฐกิจของตัวเองไม่ให้ชะลอตัวมากไปกว่านี้

นอกจากนั้น การที่สหรัฐจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า และประธานาธิบดีทรัมป์เองก็ประกาศชัดเจนว่าจะลงเลือกตั้งอีกครั้ง น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันที่ทำให้โอกาสที่ทรัมป์จะเปิดศึกเพื่อให้แตกหักกับจีนมีน้อยมาก

ล่าสุด เริ่มมีข่าวออกมาแล้วว่าสหรัฐอาจจะขยายเส้นตายออกไปอีก 60 วัน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีเวลาในการเจรจานานขึ้น ซึ่งถ้าเป็นจริง ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีว่าทั้งหสรัฐและจีนอยากบรรลุข้อตกลงมากกว่าเอาชนะกัน เพื่อให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งคู่น้อยที่สุด

ในฝั่งของ Brexit เอง ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ภายในวันที่ 29 มีนาคม ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการยืดเวลาการออกจากสหภาพยุโรปไปอีกระยะหนึ่ง โดยการแก้ไข Article 50 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด crash Brexit ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทั้งอังกฤษ หรือยุโรป

ในส่วนของการเมืองไทย แน่นอนว่าหลังเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งตามมาด้วยการยื่นคำร้องขอยุบพรรคไทยรักษาชาติ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้นทันที ต่างชาติเริ่มขายหุ้นออก และตลาดหุ้นเริ่มปรับลง แต่ผมมองว่าเป็นการตื่นตระหนกชั่วคราว

ความเสี่ยงเดียวที่จะทำให้ทิศทางตลาดหุ้นเปลี่ยนเป็นขาลงถาวร ก็คือ ถ้าเกิดการชุมนุมประท้วงวุ่นวายจนทำให้จัดการเลือกตั้งไม่ได้ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดน่าจะมีน้อยมาก เพราะกองทัพมีความพร้อมสูงในการดูแลความมั่นคงปลอดภัย อีกทั้งไม่น่าจะมีพรรคการเมืองไหนที่อยากสร้างเหตุให้ต้องมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะได้ลงทุนหาเสียงกันไปพอสมควร ในฝั่งของรัฐบาล หรือ คสช. เอง ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลที่อยากเห็นการเลือกตั้งถูกเลื่อน เพราะอยู่ในสภาวะที่ได้เปรียบอยู่แล้ว

ผมเชื่อว่าหลังมีนาคมภาพทุกอย่างจะชัดเจนขึ้น และปีนี้จะเป็นปีที่ดีของตลาดหุ้นไทย หุ้นจะขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพัฒนาการของปัจจัยภายนอก รวมทั้งพรรคไหนจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลจะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน

Scroll to Top