นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังประชุมหารือกับ คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ คุณประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้ประกอบการ สมาคม และเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ ณ โรงแรม แคนทารี่ จ.เชียงใหม่ ว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการรับฟังข้อเสนอแนะและแนวทางการฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว รวมถึงความพร้อมในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งที่ผ่านมาต่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงจากการระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยมีผู้ประกอบการจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง กว่า 123 ราย เข้าร่วม อาทิ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในภาคเหนือ มัคคุเทศก์เชียงใหม่ กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารและสถานบันเทิง ธุรกิจนวด สปา กลุ่มสินค้าหัตกรรมและศูนย์การค้า เป็นต้น โดยทางหอการค้าไทย ได้ให้ความเห็นว่าจากข้อมูลทางสาธารณสุขปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของโอมิครอนยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงเท่าปีที่แล้ว ซึ่งเราต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกับการระบาดให้ได้ เพื่อที่จะเดินหน้าทางเศรษฐกิจต่อไปในความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยข้อเสนอหลักจากการระดมความเห็นคือ การนำมาตรการ test &go กลับมาใช้ และปรับให้เหมาะสมกับการสถานการณ์แพร่ระบาด ณ เวลานี้ ซึ่งควรที่จะเร่งการดำเนินการ เพราะตอนนี้เป็นช่วง Hi-season ของการท่องเที่ยว หากตัดสินใจช้า จะเสียโอกาสให้ประเทศอื่นที่ดึงนักเดินทางไป ก็จะสามารถช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการ
มีเงินหมุนเวียนในระบบ รักษาการจ้างงานของแรงงานไว้ได้ และพร้อมที่จะกลับมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยหอการค้าไทย คาดว่า หากมีการนำระบบ test &go มาใช้ได้ นักท่องเที่ยวในปี 65 นี้ น่าจะสูงถึง 5-6 ล้านคนในปีนี้แน่นอน
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ททท. ได้นำเสนอและชี้แจง แผนการตลาดด้านการท่องเที่ยว ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หลังการเปิดประเทศ โดยให้ความเห็นว่าการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ในวันพรุ่งนี้ (20 มค 65) มีแนวโน้มที่ดีที่จะมีการพิจารณาข้อเสนอที่จะปรับมาตรการระดับสีของจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงพิจารณานำมาตรการ test & go กลับมาใช้อีกครั้ง ตามข้อเสนอของผู้ประกอบการ โดยที่ผ่านประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล ในปี 2562 รายได้รวม 3 ล้านล้านบาท ปี 63 รายได้ลดลงเหลือ 8 แสนล้านบาท และปี 64 ที่ผ่านมา รายได้จากภาคการท่องเที่ยวคาดว่าไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจะต้องเร่งยกเครื่องการท่องเที่ยวของไทยในรูปแบบใหม่ โดยในอนาคตจะต้องเน้นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพคือ CUSTOMER CENTRIC โดยใชนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม EXPERIENCE TOURISM เน้นสร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยว และ COLLABORATION เพื่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาการท่องเที่ยวไปสู่ Value over Volume ในอนาคตอันใกล้ให้ได้
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ยังได้นำเสนอรูปแบบการสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วย Happy Model เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาประเทศไทย ซึ่งเสริมเข้ากับ แอพลิเคชัน tagthai ที่ถือเป็น open platform เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งทาง ททท. และผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทยเพิ่มขึ้นได้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือในประเด็นการกำกับดูแลธุรกิจท่องเที่ยวของชาวต่างด้าวในพื้นที่ ที่มีการดำเนินธุรกิจในลักษณะผิดกฎหมาย ทั้งในประเด็น ไกด์นำเที่ยว และ Platform ท่องเที่ยวที่ไม่ได้เสียภาษีอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้หอการค้าไทย และ ททท. ช่วยกันผลักดัน เรื่อง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากฎเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อค่อนข้างเข้มงวด ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขเพื่อช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาประคองกิจการต่ออีกครั้ง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน จ.เชียงใหม่ ได้มีการนำเสนอความพร้อมและแนวทางด้านสาธารณสุขของจังหวัด โดยเสนอยกระดับพื้นที่สีฟ้าทุกอำเภอ เพื่อให้สามารถรองรับนักเดินทางต่างประเทศที่จะเข้ามาท่องเที่ยว ซึ่งจากเดิมมีการประกาศพื้นที่สีฟ้าเพียง 5 อำเภอในจังหวัดเท่านั้น แม้จะมีการระบาดในพื้นที่อยู่บ้าง แต่จากข้อมูลพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและเตียงผู้ป่วย ยังอยู่ในระดับที่สามารถรองรับได้
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทย มองว่า การฟื้นฟูประเทศในปีนี้ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทุกมิติของประเทศ เพราะแต่ละด้านได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่เคยสร้างรายได้ให้ประเทศ 15-20% ของ GDP ดังนั้น หอการค้าไทยจึงเดินหน้าเน้นรับฟังเสียงผู้ประกอบการเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวควบคู่กับการค้า โดยใช้แนว Trade & Travel โดยจะได้สะท้อนความต้องการของผู้ประกอบการ แล้วหารือแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ