การใช้นวัตกรรมเพื่อเร่งพัฒนาผลิตภาพการผลิตและยกระดับศักยภาพของประเทศมีความสำคัญมากขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ผลจาก RDI Survey สะท้อนว่า แม้ธุรกิจไทยส่วนใหญ่จะทำกิจกรรมนวัตกรรมอยู่แล้ว แต่ยังเน้นนวัตกรรมด้านการบริหารธุรกิจ อาทิ การตลาด และการจัดการองค์กร มากกว่านวัตกรรมด้านการยกระดับการผลิต อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น และการปรับกระบวนการผลิตหรือขนส่ง
ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจทำนวัตกรรมโดยรวมมากขึ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านการยกระดับการผลิต เพื่อให้สามารถรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ทันการณ์และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพของประเทศในระยะยาว
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลก ทั้งจากกระแส Digitalization และ Sustainability รวมถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น
การเร่งพัฒนาผลิตภาพของภาคการผลิตในประเทศโดยใช้นวัตกรรม ทั้งการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และยกระดับภาคการผลิตรวมถึงศักยภาพของประเทศ
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาระดับนวัตกรรมของไทยจะค่อยๆ ปรับดีขึ้น แต่ยังถือว่าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนจากข้อมูลดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index)1 ซึ่งเป็นการจัดอันดับความสามารถ ทางด้านนวัตกรรมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยพบว่าในปี 2563 ไทยอยู่อันดับที่ 44 จากทั้งหมด 131 ประเทศ ปรับดีขึ้น 8 อันดับ จากปี 2559 แต่เป็นรองเวียดนาม ซึ่งอยู่อันดับที่ 42 ปรับดีขึ้นถึง 17 อันดับ จากปี 2559 (ในปี 2559 ไทยอยู่อันดับที่ 52 ส่วนเวียดนามอยู่อันดับที่ 59) โดยเวียดนามมีคะแนนสูงกว่าไทยในด้านผลผลิตจากการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยี รวมถึงการคิดค้นผลงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ
นอกจากนี้ ไทยยังมีอันดับต่ำกว่ามาเลเซีย (อันดับที่ 33) ซึ่งเป็นประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle-income economies) ด้วยกัน หากพิจารณาสถานการณ์การทำนวัตกรรมของธุรกิจไทยจากผลการสำรวจการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย หรือ Research Development Innovation (RDI) Survey2 ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตและกิจกรรมนวัตกรรมเพื่อการบริหารธุรกิจ รวม 4 ประเภท ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product) การปรับปรุงกระบวนการ (Process) การพัฒนาด้านการตลาด (Marketing) และการพัฒนาการจัดการองค์กร(Organization) พบว่าในปี 2559-2561 ธุรกิจไทยส่วนใหญ่ได้ทำกิจกรรมนวัตกรรม โดยมีสัดส่วนเฉลี่ย 80% ของจำนวนธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด และเมื่อแบ่งตามขนาดพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่ทำกิจกรรมนวัตกรรมมีสัดส่วน 80% และ 78% ของจำนวนธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมด และ SMEs ทั้งหมดตามลำดับ
หากพิจารณาในรายละเอียด พบว่า ธุรกิจในอุตสาหกรรมผลิตอาหารและธุรกิจขนาดเล็กในอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์ ให้ความสนใจทำนวัตกรรมทั้ง 4 ประเภทมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 3.1% และ 3.2% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในแต่ละกลุ่มตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ที่ 1.0% เท่านั้น และเมื่อแยกตามรูปแบบของกิจกรรมนวัตกรรม พบว่าธุรกิจในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เลือกทำนวัตกรรมด้าน Organization ตามด้วย Marketing มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ทำนวัตกรรมด้าน Product และ Process ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ
ดังนั้น ผลจาก RDI Survey จึงสะท้อนว่าแม้ธุรกิจไทยส่วนใหญ่มีการทำนวัตกรรมอยู่แล้ว แต่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจเป็นหลักทั้ง Organization และ Marketing ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยนวัตกรรมด้าน Organizationจะช่วยให้ธุรกิจเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขณะที่นวัตกรรมด้าน Marketing จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันจากการสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการ เพื่อให้ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยการพัฒนานวัตกรรมด้าน Product และ Process ควบคู่ไปด้วย เนื่องจากการทำนวัตกรรมด้าน Product จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภค ผ่านสินค้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต หากสินค้ามีคุณภาพและตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค จะทำให้ผู้บริโภคเสพติดแบรนด์สินค้านั้นไปแบบไม่รู้ตัว
โดยเบื้องต้นพบว่าธุรกิจที่ทำนวัตกรรมด้าน Product จะเป็นธุรกิจขนาด ใหญ่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีความพร้อมทางด้านต้นทุนและแรงงานในการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) สำหรับธุรกิจที่ทำนวัตกรรมด้าน Process แม้จะมีสัดส่วนน้อยที่สุด แต่พบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวในปี 2561 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อรองรับการสั่งซื้อสินค้าแบบ delivery ที่เพิ่มมากขึ้น
จากการเปรียบเทียบการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยในปี 2560-2561 พบว่า การทำนวัตกรรมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการขยายตัวของรายได้ โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งพบว่าธุรกิจที่ทำนวัตกรรมด้าน Marketing Organization และโดยเฉพาะ Process มีรายได้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในภาคการขนส่งที่ได้ปรับกระบวนการขนส่งสินค้าให้สอดคล้องกับธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
มีข้อสังเกตว่ากลุ่มที่ไม่ทำนวัตกรรมมีการขยายตัวของรายได้ที่มากกว่าการทำนวัตกรรมในบางประเภท แต่เป็นไปได้ว่าอาจเป็นผลจากการทำนวัตกรรมไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ซึ่งผลดีจากการทำนวัตกรรมด้าน Product หรือการทำนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมต่อรายได้ของธุรกิจมักไม่เห็นผลในระยะสั้นมากนัก จำเป็นต้องอาศัยเวลาและความต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก RDI Survey มีข้อมูลกิจกรรมนวัตกรรมที่มีความต่อเนื่องเพียง 3 ปี จึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์เชิงสถิติเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมนวัตกรรมในระยะยาวได้ ดังนั้น หากในระยะต่อไป มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ผลของนวัตกรรมต่อธุรกิจไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำนโยบายเพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศที่ตรงจุดมากขึ้น
โดยสรุปการพัฒนานวัตกรรมจะทวีความสำคัญมากขึ้นในระยะข้างหน้าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลกและการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ภาคธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับการทำนวัตกรรมมากขึ้น โดยอาจเลือกใช้นวัตกรรมประเภทที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อช่วยรักษาระดับรายได้และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรเร่งสนับสนุนการทำนวัตกรรมของภาคธุรกิจควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านการยกระดับการผลิต สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของประเทศในระยะยาว
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มกิจกรรมนวัตกรรม
1.เพิ่มการสนับสนุนด้านแรงจูงใจในการทำนวัตกรรม เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในรูปแบบ Co-Payment
2.ลดกระบวนการขอรับการลดหย่อนภาษีให้มีความยุ่งยากน้อยลง หากมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำนวัตกรรมในทุกประเภท เช่น อาจมีการหักลดหย่อนภาษีอัตโนมัติ
3.เพิ่มการประชาสัมพันธ์มาตรการสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ สิทธิประโยชน์ที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเร่งทำนวัตกรรมในปัจจุบัน หรืออาจประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงตัวอย่างของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการทำนวัตกรรมด้านต่าง ๆ
4.จัดเก็บข้อมูลนวัตกรรมของภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ผลของการทำนวัตกรรมประเภทต่าง ๆ ของภาคธุรกิจ และสามารถนำมาสนับสนุนการออกนโยบายได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลด้านอุตสาหกรรมหรือบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผู้เขียน : สุพิชฌาย์ ตั้งจิตนำธำรง
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท.
ZEEHO Thailand ผู้เล่นในตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สร้างสีสันให้กับงาน “มหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 41” (Motor Expo 2024) ด้วยการเปิดตัวรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ถึง 3 รุ่น ได้แก่ ZEEHO AE4,…
ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2567 หรือ Global Innovation Index 2024 (GII 2024) โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) เปิดเผยข่าวดีที่ทำให้คนไทยภาคภูมิใจ ประเทศไทยทะยานขึ้นสู่อันดับที่ 41 ด้วยคะแนน…
ทรู คอร์ปอเรชั่น (True) ติดอันดับดัชนีความยั่งยืน FTSE4Good ประจำปี 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน ESG ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ด้วยคะแนนรวมสูงถึง 4.5 จากคะแนนเต็ม…
ประเทศไทยเตรียมยกระดับวงการศึกษาไทยสู่เวทีสากล ด้วยการเปิดตัวโครงการนำร่องหลักสูตรปริญญาร่วมไทย-สหรัฐอเมริกา สาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ด้านสะเต็มศึกษา (Thai-US Joint-degree Sandbox for STEM Teacher Education Program) มุ่งพัฒนาครูมืออาชีพยุคใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลากหลายหน่วยงาน…
ไทย สมายล์ บัส บริษัทรถเมล์ของคนไทย โชว์ศักยภาพผงาดคว้า 2 รางวัลระดับเอเชีย บนเวที International Innovation Awards (IIA) 2024 จาก Asia…
AI กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าวงการบันเทิงอย่างรวดเร็ว นำเสนอประสบการณ์สุดพิเศษที่ปรับแต่งให้เข้ากับรสนิยม ความสนใจ และอารมณ์ของแต่ละบุคคล จากหน้าจอทีวีสู่สนามกีฬา AI สร้างโลกบันเทิงไร้ขีดจำกัด ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวกระโดดอย่างไม่หยุดยั้ง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์เนื้อหา การผลิต การตลาด…