คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นเดือนแรกของช่วงครึ่งปีหลัง พบว่า แรงส่งเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแรงต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ ยังคงหดตัว ส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การลงทุนทรงตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงจากช่วงครึ่งปีแรก และแม้การท่องเที่ยวจะขยายตัว แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน
• มองไปในช่วงที่เหลือของปี 2562 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยกดดัน ทั้งจากภาคต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และปัญหาการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลี ความเสี่ยงจากประเด็น Brexit รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ที่ล้วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภายในประเทศก็ถูกกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และล่าสุดเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
• ทั้งนี้ ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิม ช้อป ใช้ รวมถึงมาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตรสำคัญๆ อาจมีแรงบวกที่จะสามารถชดเชยผลกระทบจากหลายปัจจัยกดดันข้างต้น นอกจากนี้ อานิสงส์จากการที่ภาครัฐเตรียมจะออกมาตรการเพื่อดึงดูดการย้ายฐานการลงทุนจากผลกระทบเรื่องสงครามการค้า ก็อาจต้องใช้เวลา และคงจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานและแรงจูงใจที่มากพอสำหรับนักลงทุน ซึ่งรวมถึงประเด็นเรื่องค่าเงินด้วย
• ที่ประชุม กกร. จึงมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังขาดปัจจัยหนุน และมีโอกาสมากขึ้นที่ทั้งปี 2562 นี้ เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ ยังกังวลต่อเรื่องเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอีกหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของการส่งออกและการลงทุนของไทย จึงอยากให้ทางการออกมาตรการเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาทโดยเร็ว ทั้งนี้ กกร. จะติดตามและทบทวนประมาณการเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ อีกครั้งในเดือนหน้า
.
โดยวางกรอบ GDP ที่ร้อยละ 2.9-3.3
ส่งออกร้อยละ -1.0 ถึง 1.0
เงินเฟ้อร้อยละ 0.8-1.2
0000