ธนาคารโลกเปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุดวันนี้พบว่า ช่วงต้นปี 2562 เศรษฐกิจไทยเริ่มเติบโตช้าลงท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวลง คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอการเติบโตลงจากร้อยละ 4.1 เมื่อปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2562 นี้
การส่งออกหดตัวเหลือร้อยละ 4 ในไตรมาสแรกของปี 2562 นับเป็นการหดตัวไตรมาสแรกในรอบสามปี การลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคของครัวเรือนยังคงเติบโตใกล้เคียงกับระดับสูงสุดที่เคยมีมาในรอบสามปีที่ผ่านมาโดยได้รับปัจจัยด้านบวกจากอัตราเงินเฟ้อต่ำ การเพิ่มการจ้างงาน และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อมาใช้ดำเนินการ ในขณะเดียวกัน การลงทุนภาครัฐลดลงเนื่องจากการดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ชะลอตัวอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งที่ล่าช้า มีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงที่ร้อยละ 2.8 ในไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าร้อยละ 3 เป็นครั้งแรกนับจากกลางปี 2558
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตสูงขึ้นจากร้อยละ 3.5 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 3.6 และ 3.7 ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคเอกชนจะยังคงต่อเนื่องไปด้วยดีและการลงทุนภาครัฐจะมีการเร่งดำเนินการขึ้น
“ความต่อเนื่องของนโยบายและการดำเนินการโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐตามที่ได้วางแผนไว้ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว “การเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และการใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ให้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนการค้าและการบริการ”
ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในอนาคต ความกังวลที่มีต่อความมั่นคงของรัฐบาลผสมที่เกิดจาก 19 พรรคการเมืองมีผลด้านลบต่อนักลงทุนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงอาจมีผลต่อความล่าช้าในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลให้ทันกำหนดการที่วางไว้ นอกจากนี้แล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกได้แก่ ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างต่อเนื่องอาจมีผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากประเทศไทยลดลง และไม่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก
รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุดนี้มีหัวข้อพิเศษเรื่องการให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างก้าวกระโดด ผู้ใหญ่ไทยร้อยละ 82 มีบัญชีธนาคารเป็นของตนเองและช่องว่างระหว่างเพศในการเข้าถึงบริการก็ต่ำมาก อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยยังมีความท้าทายด้านคุณภาพของบริการทางการเงินโดยใช้ดิจิทัลและการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์
“การขยายบริการดิจิทัลไปยังประชากรกลุ่มที่ยังไม่เข้าถึงบริการนั้นจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามที่ได้ยุทธศาสตร์ชาติได้วางแผนไว้” เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว “ในส่วนของธุรกิจฟินเทคที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยนั้น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนระบบนิเวศของฟินเทคเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”
รายงานนี้ได้นำเสนอข้อแนะนำด้านนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์จากฟินเทคให้เต็มศักยภาพ ได้แก่ การลดให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่กำลังต้องการเข้าสู่ภาคส่วนด้านการเงิน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์กับบริษัทฟินเทค การปรับปรุงการประสานงานระหว่างหน่วยงานออกกฎระเบียบข้อบังคับเพื่อสร้างตัวอย่างสนามทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน การสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน และภาคเอกชน-ภาคเอกชน การส่งเสริมแนวคิดใหม่ ๆ อาทิ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและการให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ รวมถึงการจับคู่ทุนที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้บริษัทฟินเทคได้เริ่มต้นกิจการในประเทศไทย