เอ็นไอเอ – กกพ. เปิดตัว 10 นวัตกรด้านการจัดการขยะของไทย รุกผลักดันเยาวชนสู่นักการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า

เอ็นไอเอ - กกพ. เปิดตัว 10 นวัตกรด้านการจัดการขยะของไทย รุกผลักดันเยาวชนสู่นักการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเวทีกิจกรรมสนามนักปฏิบัติการตัวจริง “10 INNOVATIONS LAUNCHED” ผู้สร้างอนาคตการจัดการขยะสู่การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ในโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground) ถ่ายทอดไอเดียของบรรดาเด็กและเยาวชนว่าที่ “นวัตกรรุ่นใหม่” เจ้าของ 10 ผลงานนวัตกรรมดีเด่น ที่พร้อมเปลี่ยนปัญหาขยะในประเทศไทยให้มีมูลค่ายิ่งกว่าทองคำ อาทิ ถังขยะหน้ากากอนามัย ตู้แยกขวดพลาสติกสำหรับคนตาบอด เครื่องสร้างพลังงานไฟฟ้าจากขยะ แอปพลิเคชั่นจัดการขยะ เครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ เครื่องบีบขวด และถังขยะแปลงเศษอาหารเป็นพลังงานไฟฟ้า พร้อมกับฉากทัศน์สำคัญของความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานที่พร้อม “ลงทุน” กับศักยภาพด้านนวัตกรรมเยาวชนไทยให้พร้อมสู่การเป็นสตาร์ทอัพ นักขับเคลื่อนสังคม และผู้เปลี่ยนแปลงประเทศ พร้อมไฮไลท์สุดพิเศษ เนรมิตนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะโดยเยาวชนไทย ณ โถง ชั้น 1 หน้าห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้

ธ.ก.ส. โอนต่อเนื่อง! เงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว งวดที่ 10 อีกกว่า 1,100 ล้านบาท
คิดเมนูใหม่ทั้งหมด ยกเชฟมาทำอาหารถึงโต๊ะ อีกก้าวกับการปรับโฉมสู่แบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ซิกเนเจอร์

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA มีความยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมงาน สำนักงาน กกพ. ในการพัฒนาเยาวชนของไทยให้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดได้ ที่ผ่านมา NIA มุ่งเน้นการทำงานที่ครอบคลุมการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติอย่างรอบด้าน เพื่อตอบสนองต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมในอนาคตของโลกที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญ 5 มิติ ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการนวัตกรรม 2. วิสาหกิจและองค์กรนวัตกรรม 3. ตลาดทุนและการลงทุน 4. นวัตกรและงานแห่งอนาคต และ 5. ตลาดและอัตลักษณ์นวัตกรรมของชาติ และ “เยาวชน” ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่ NIA ให้ความสำคัญในการออกแบบกระบวนการเพื่อพัฒนาแนวคิดและศักยภาพด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เติบโตไปเป็นวัตกรที่สามารถยกระดับนวัตกรรมไทยไปสู่ในเวทีโลก

โดยโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้านี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ NIA ภาคภูมิใจที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเยาวชน ซึ่งเรามองว่าบทบาทในการสนับสนุนของ NIA นั้น ไม่ใช่ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ให้เกิดโครงการหรือผู้ผลักดันน้องๆ แต่เพียงคนเดียว แต่เราเป็นสะพานเชื่อม (System Integrator) เชื่อมโยงคน หน่วยงานหรือส่วนประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมของประเทศ ให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบการทำงานด้านนวัตกรรมอย่างครบวงจร ดังนั้น ความสำเร็จที่ทุกคนได้เห็นในกิจกรรมสนามนักปฏิบัติการตัวจริง 10 INNOVATIONS LAUNCHED พระเอกของงานจะไม่ใช่เพียง สำนักงาน กกพ. หรือ NIA แต่คือการทำงานร่วมกันของหลายฝ่ายหลายหน่วยงานที่เชื่อมโยงเข้ามาตลอดปีกว่าๆ แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม

ดร.กริชผกา กล่าวต่อว่า กิจกรรมสนามนักปฏิบัติการตัวจริง 10 INNOVATIONS LAUNCHED โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้านี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพผลงานของน้องๆ นักเรียนเจ้าของผลงานที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผลงานนวัตกรรมดีเด่นทั้ง10 ทีมแล้ว ยังถือเป็นจุดตั้งต้นที่ดีที่ประเทศไทยจะได้เริ่มมีการปลูกฝังการเรียนรู้กระบวนการสร้างนวัตกรรมในทุกโรงเรียน สร้างฐานการสร้างเยาวชนให้เติบโตแบบสร้างสรรค์ รวมทั้งเครือข่ายที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ก็จะพัฒนาให้เข้มแข็งและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่ระบบนวัตกรรมที่ยั่งยืน และนอกจากจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste to Energy) ในกลุ่มเยาวชนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 50 แห่งและผู้ที่เข้าถึงสื่อต่างๆ ของโครงการ ซึ่งส่งผลในการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะสู่การผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นจุดสำคัญที่สร้างแรงกระเพื่อมไปยังสังคมให้เกิดการตื่นตัวเรื่องพลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่สามารถส่งเสริมภารกิจสำคัญของ กกพ. ได้เป็นอย่างดี โดยอาศัยความร่วมมือกันที่เข้มแข็งระหว่าง สำนักงาน กกพ. และ NIA ในการออกแบบและผลิตสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ในโครงการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ ชัดเจนและนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ได้ สอดคล้องกับหลักการการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในหัวข้อ “พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้” (Affordable and Clean Energy) ตามแนวทาง Sustainable Develop Goals ข้อ 7 (SDG#7) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยมีหลักการทำงานเพื่อวัตถุประสงค์ 3 ระดับในกลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไป นั่นคือ

1. Awareness – การสร้างความตระหนัก หรือสร้างแรงบันดาลใจในการคิดและทำประโยชน์ด้านพลังงานผ่านการเรียนรู้ตัวอย่างการสร้างสรรค์

2. Educate – การสร้างความรู้ความเข้าใจในกลุ่มเยาวชนเกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste to Energy) ตลอดเส้นทางการจัดการขยะ การคัดแยกขยะ การขนส่ง และการผลิต

3. Action – การสร้างการมีส่วนร่วมในการคิดและลงมือทำ เพื่อการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด การสร้างสังคมนักปฏิบัติรูปแบบใหม่ที่สนุกและวัดผลสำเร็จได้ ที่กระตุ้นให้เกิดการลงมือสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมทั้งด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการทางสังคม หรือกระบวนการจัดการ ที่สร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคม

โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จัดตั้งขึ้นภายในสำนักงาน กกพ. ตาม “พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550” มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแล ภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ซึ่งมีภารกิจสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า โดยโครงการฯ จัดตั้งขึ้นภายใต้แคมเปญ Clean Energy for Life หรือ พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน แม้อาจดูเป็นประโยคสั้นๆ แต่สร้างผลกระทบไม่น้อย เพราะพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่จะทำให้สังคมก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการผลิตและการหมุนเวียนใช้พลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืน เกิดพฤติกรรมในการแก้ไขปัญหา คิดค้นพัฒนา รวมถึงร่วมกันจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าและการอนุรักษ์อย่างสร้างสรรค์

ดังจะเห็นได้จาก การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประเภทพลังงานจากขยะ (Waste to Energy) ถูกนำมาเป็นสาระสำคัญในการเรียนรู้สำหรับน้องๆ ระดับมัธยมศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 10,000 คน จาก 50 โรงเรียน ซึ่งน้องๆ ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้วถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะประเภทต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทาง ทั้งการจัดการขยะหรือวัตถุดิบต้นทาง การขนส่งการผลิตไฟฟ้า ตลอดจนการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและชุมชน ทำให้สามารถมองรอบตัว โรงเรียน ชุมชน และคิดค้นนวัตกรรมหรือวิธีการในแบบของตนเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่มูลค่านี้ได้ตั้งแต่การจัดการขยะ การคัดแยกขยะ การรวบรวม การขนส่ง ตลอดจนถึงการจัดการดูแลการใช้พลังงาน จนสามารถคิดค้นโครงการที่น่าสนใจนำมาประกวดแข่งขันและแลกเปลี่ยนแนวคิดกันได้ตั้งแต่รอบ EDTRICITY(เอ็ดทริซิตี้) ในโรงเรียน มาสู่รอบ ELECTRIC FIELD คือการแข่งขันรอบศูนย์มหาวิทยาลัย 5 สายแข่งขัน ผ่านเข้ามาสู่ค่ายพัฒนาผลงาน ELECATHON (อิเล็คคาธอน) และพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่องสู่กิจกรรมเวทีคุยโวลท์  VOLTAGE STAGE และผ่านการคัดเลือกเป็นผลงานนวัตกรรมดีเด่น 10 ทีม ที่นำมาจัดแสดงในกิจกรรมสนามนักปฏิบัติการตัวจริง 10 INNOVATIONS LAUNCHED หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะสร้างแรงบันดาลใจ สร้างการตระหนักรู้และเรียนรู้ และนำไปสู่การลงมือทำ เป็นต้นแบบให้กับเยาวชนอีกมากมายในการร่วมสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลง อันจะก่อให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งก่อให้เกิดผลงานนวัตกรรมด้านการจัดการขยะสู่การผลิตพลังงานไฟฟ้าฝีมือเยาวชนที่เป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาสังคมและส่งเสริมการผลิตและใช้ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ดร.บัณฑูร กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ จาก 10 ผลงานนวัตกรรมดีเด่น ยังมีการประกาศผล 5 ต้นแบบนวัตกรรมเพื่อการจัดการขยะสู่การผลิตไฟฟ้า ที่จะได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ดังนี้ ทีม Heavycrazywaste จากโรงเรียนบ้านไผ่ กับผลงาน GARBAGEMAN ทีมฟูริน จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์  สิงหเสนี) กับผลงานตู้แยกขวดพลาสติกสำหรับคนตาบอด ทีมสร้างพลังงานโดยใช้ความร้อน จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์  สิงหเสนี) กับผลงานเครื่องสร้างพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ทีม Bajaangs(บ๊ะจ่าง) จากโรงเรียนขจรเกียรติศึกษา กับผลงาน TAOYAA (ต้าวหยะ) และทีม save the world จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์  สิงหเสนี) ๒ กับผลงานเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเตาเผาขยะด้วยเทคโนโลยีเทอร์โมอิเล็กทริก

Scroll to Top