สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดงาน STARTUP X INNOVATION THAILAND EXPO หรือ SITE 2022 เพื่อจุดประกายแนวทางการเปิดเมืองในช่วงหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยนวัตกรรม พร้อมตอกย้ำบทบาทสำคัญของเมืองที่มีนวัตกรรมกับโอกาสและการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมดึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองด้วยนวัตกรรม ซึ่ง กทม. มีแนวนโยบายในการดำเนินงานที่สามารถทำงานร่วมกันกับ NIA 3 ประการ ได้แก่
1) guiding policies เมืองจะต้องไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นใหม่
2) Inclusive นวัตกรรมต้องไม่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนบางกลุ่ม และต้องจัดการทุกปัญหาอย่างเท่าเทียม
3) Fair & Empathy การสร้างนวัตกรรมที่ต้องมีความยุติธรรม
นอกจากนี้ ยังเตรียมสานต่อนโยบายสนับสนุนย่านนวัตกรรมทั้ง 4 แห่งภายใต้การการดำเนินงานของ NIA ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (ศูนย์กลางด้านการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ) ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี (ศูนย์กลางดิจิทัลและไลฟ์สไตล์ของคนเมืองยุคใหม่) ย่านนวัตกรรมอารีย์ (อารีย์ 2025 ก้าวสู่เมืองฉลาดรู้) และย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท (ย่านนวัตกรรมบนฐานองค์ความรู้เดิมบนความคิดสร้างสรรค์และดิจิทัล)
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกไม่เพียงเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ แต่ยังเผชิญหน้ากับวิกฤตอื่นซึ่งทำให้มองเห็นความท้าทายที่จะสร้างให้เกิดโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทยโดยเฉพาะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ทุกคนสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น
–NIA – สสส. แท็คทีมปั้น “นวัตกรรมด้านสุขภาวะ” ปฏิรูปคุณภาพชีวิตคนไทยรับเป้าหมายยูเอ็น
–ชไนเดอร์ อิเล็คทริค โชว์นวัตกรรมอัจฉริยะ ในงาน Assembly and Automation Technology 2022
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังเป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเมืองหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งการเปิดเมืองถือเป็นการเชื่อมโลกและประเทศไทยกลับมาดำเนินสิ่งต่าง ๆ ได้ตามปกติอีกครั้ง จึงเป็นที่มาของการจัดงาน STARTUP X INNOVATION THAILAND EXPO หรือ SITE 2022 ที่ชูประเด็นหลักคือ “เมืองนวัตกรรม” (Innovation City) ภายใต้แนวคิด “Reconnecting the World เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน” ในรูปแบบไฮบริดที่ผสมผสานระหว่างโลกเสมือนจริงในเมตาเวิร์สกับโลกทางกายภาพ เพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยมีเมืองนวัตกรรมที่มีจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และพร้อมจะเชื่อมต่อกับเมืองนวัตกรรมจากทั่วโลกเพื่อสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และร่วมฟื้นฟูให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสากล
นอกจากนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่ต้องการสร้างเวทีแสดงศักยภาพของ “นวัตกรรมไทย” และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความท้าทายให้กับคนไทยและสามารถนำไปต่อยอดหรือขยายผลในหลากหลายมิติ ทั้งนี้ ยังตอกย้ำถึงความสำคัญของ “การฑูตนวัตกรรม” ที่เป็นกรอบแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่สร้างให้เกิดสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการนวัตกรรม และบริษัทขนาดใหญ่ ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจและนวัตกรรมระหว่างประเทศในอาเซียนและพันธมิตรนานาชาติ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสากล รวมทั้งประเทศสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค ซึ่งปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพอีกด้วย”
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า ความท้าทายของ NIA กับการทำให้กรุงเทพมหานครเป็น “มหานครแห่งนวัตกรรม” คือการบริหารจัดการให้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ตั้งขอบเขตคำจำกัดความของนวัตกรรมให้เป็นแค่เรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ กทม.
มีแนวนโยบายในการดำเนินงานที่สามารถทำงานร่วมกันกับ NIA ได้ 3 ประการ คือ
1) guiding policies เมืองจะต้องไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นใหม่ เช่น เรื่องการกำจัดขยะโดยการฝังกลบที่ถือเป็นการจัดการปัญหาขยะที่เป็นภาระในอนาคต และต้องเอาปัญหาจริงมาสร้างนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ปัญหาได้
2) Inclusive นวัตกรรมต้องไม่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนบางกลุ่ม ต้องจัดการทุกปัญหาได้อย่างเท่าเทียม
3) Fair & Empathy เมืองต้องมีความยุติธรรมและความเข้าใจ ไม่ต่างกับการสร้างนวัตกกรมที่ต้องมีความยุติธรรม เช่น พื้นที่กรุงเทพมหานครมีปัญหาประชาชนสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำพื้นที่คลองจำนวนมาก การจะสั่งให้ออกจากพื้นที่ทันทีไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหา โซลูชันที่จะเข้ามาช่วยให้เข้าใจชีวิตและสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ รัฐบาลต้องแก้ปัญหาโดยการสร้างบ้านมั่นคงเข้ามารองรับการย้ายที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งสำคัญก็คือการสร้างภาพจำให้คนเข้าใจถึงคำว่านวัตกรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จากเดิมคนมักจะตีขอบเขตอยู่แค่เทคโนโลยี ความไฮเทค สตาร์ทอัพ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป นวัตกรรมง่าย ๆ อย่างการใช้ไอเดียก็เป็นคำตอบสำหรับการเพิ่มมูลค่า หรือสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมได้ อีกทั้งยังช่วยปรับกระบวนการทางความคิดให้ดีขึ้น และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมได้อีกด้วย
“ในอดีตการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน จะอยู่ในรูปแบบเอกสารหรือจดหมายผ่านกระบวนการสั่งงานตามลำดับขั้นของตำแหน่งทำให้การแก้ไขปัญหาใช้เวลาเป็นเดือน แต่พอเปลี่ยน กทม. ให้เป็นแพลตฟอร์ม “Traffy fondue” คือนวัตกรรมเมืองที่ไม่น่าเชื่อ โดยประชาชนสามารถร้องเรียนปัญหาเข้าไปได้ในแพลตฟอร์ม เขตสามารถรับเรื่องและแก้ปัญหาได้ทันที วันแรกที่เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่ามีคนแจ้งเหตุมากว่า 20,000 เรื่อง ซึ่งปัจจุบันได้รับการร้องเรียนทั้งหมดกว่า 40,000 เรื่อง ได้รับการแก้ไขไปแล้วกว่า 5,000 เรื่อง โดยที่ไม่ต้องมีคำสั่งการจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสามารถนำข้อมูลนี้ไปประเมินงานของข้าราชการได้ด้วย นี่คือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า นวัตกรรมที่ง่าย ๆ ก็สามารภเปลี่ยนเมืองได้ในพริบตา แล้วยังทำให้ข้าราชการเกิดความกระตือรือร้นในการทำงานที่ดีขึ้น”
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า กทม. พร้อมสนับสนุนการทำงานด้านนวัตกรรมกับ NIA อย่างเต็มที่ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกด้านนี้ เพราะ กทม. อาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม ต้องอาศัยองค์ความรู้จากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญอย่าง NIA หรือเอกชน ที่มีข้อมูลทั้งความต้องการและประเภทเทคโนโลยี รวมถึงการคิดนอกกรอบที่ดีกว่าเพื่อออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประชาชน นอกจากนี้ ยังพร้อมสนับสนุนการพัฒนาย่านนวัตกรรมทั้ง 4 แห่งภายใต้การสนับสนุนของ NIA ซึ่งเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน ประเทศไทยก็จะสามารถมีเมืองนวัตกรรมระดับโลกได้อย่างแน่นอน