ทอท.ชี้แจงข้อเท็จจริงการจัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดในการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า ตามที่ปรากฏข่าวตามสื่อต่างๆ ทักท้วงการดำเนินงานของ ทอท.ในการจัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเลือกประมูลแบบสัญญาเดียว ว่ามีลักษณะผูกขาด และอาจจะไม่สอดคล้องกับกฎหมายร่วมทุนที่มีการประกาศใช้ใหม่นั้น นายนิตินัย กล่าวย้ำว่า ในการจัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดของทั้งสองโครงการ ทอท.ได้มีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านอย่างรอบคอบ รับฟังความคิดเห็นจากหลายองค์กรมาประมวลผล รวมทั้งศึกษาถึงบริบทโดยรวมรอบด้าน ได้ผลสรุปดังนี้
1. การเปิดเสรีเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) เป็นการยุติการผูกขาดธุรกิจร้านค้าปลอดอากร โดยสามารถเห็นตัวอย่างได้จากการเปิดเสรี Pick-up Counter ที่ท่าอากาศยานภูเก็ตทำให้มีผู้ยื่นความจำนงประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองนับสิบราย ซึ่ง ทอท. คาดว่าหลังจากมีการเปิดเสรี Pick-up Counter ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันในธุรกิจร้านค้าปลอดอากรที่สำคัญของประเทศไทย
2. รูปแบบของการให้สิทธิประกอบกิจการโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ที่เหมาะสมที่สุดและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายในระยะยาว คือ การให้สิทธิสัมปทานเพียงรายเดียว (Master concessionaire) การแยกประมูลตามหมวดสินค้า (Category consessions) จะไม่ส่งผลดีต่อองค์กรและประเทศชาติโดยรวม โดยในส่วนของกิจการร้านค้าปลอดอากรไม่เหมือนการค้าปลีกโดยเฉพาะเรื่องสถานที่ ห้างสรรพสินค้ามีประตูอยู่ที่เดิมตลอดไป แต่ท่าอากาศยานมี contact gate ที่เปรียบเสมือนประตู และแต่ละ contact gate สามารถรองรับเครื่องบินได้ในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน ดังนั้น การไหลเวียนของผู้โดยสาร (Passenger flow) ในท่าอากาศยาน จึงแตกต่างจากห้างสรรพสินค้า โดยขึ้นอยู่กับประเภทเครื่องบินที่สายการบินนำมาให้บริการ ดังนั้น จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่หากมีการแยกสัญญาแล้วจะทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีปัญหาเมื่อปริมาณและการไหลเวียนของผู้โดยสารมีการเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ยังจะทำให้ภายในสนามบินเดียวกัน มีความแตกต่างให้เห็นทั้งในด้านโครงการส่งเสริมการขาย และมาตรฐานการให้บริการ ซึ่งจะสร้างการเปรียบเทียบและความสับสนให้กับผู้โดยสาร อีกทั้งยังนำมาซึ่งการผูกขาดในรายสินค้านั้นๆและไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันตามที่กล่าวอ้าง
แต่อย่างใด แต่จะแสดงถึงความไม่มีมาตรฐานของสนามบินของประเทศอีกด้วย
3. การให้สิทธิประกอบกิจการทั้ง 4 ท่าอากาศยาน ซึ่งประกอบด้วยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมอยู่ในสัญญาเดียว เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ท่าอากาศยานที่มียอดขายน้อย เช่น ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ประสบปัญหาการขาดทุน แต่สามารถยังดำเนินกิจการอยู่ได้ เนื่องจากมีการถัวกำไรจากท่าอากาศยานใหญ่ คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นอกจากนั้น การเปิดเสรีเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ได้เริ่มประสบปัญหาการขาดทุนจากการแข่งขันของร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown Duty Free) แสดงให้เห็นว่าความแข็งแรงและศักยภาพของผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งจากผลการศึกษาของที่ปรึกษาชี้ชัดว่า การรวมสัญญาของโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรทั้ง 4 ท่าอากาศยาน จะทำให้ผู้ชนะการประมูลมีอำนาจต่อรองกับผู้แทนจำหน่าย (Supplier) ของสินค้า (Brand Name) ชั้นนำได้มาก ซึ่งธุรกิจร้านค้าปลอดอากรเป็นธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นในระดับโลก การจะทำให้ท่าอากาศยานภูมิภาคมีสินค้า Brand Name ให้บริการผู้โดยสารเหมือนที่ให้บริการในท่าอากาศยานใหญ่ ทอท.จำเป็นต้องคัดเลือกให้ได้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมากที่สุดเพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ หากท่าอากาศยานของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ จะส่งผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวมต่อไป
นายนิตินัย กล่าวย้ำในตอนท้ายยืนยันว่า ทอท.ได้ดำเนินการจัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดของทั้งสองโครงการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องในทุกกระบวนการ โดยคำนึงประโยชน์สูงสุดของ ทอท.และประเทศที่จะได้รับเป็นสำคัญ รวมถึงการที่จะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ที่กำหนดให้มีคนนอกร่วมอยู่ในกระบวนการด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณชนได้