บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผนึกความร่วมมือปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านการสนับสนุนการจัดส่งสื่อแผ่นปลิวไซเบอร์วัคซีนทั่วไทย โดยมีเป้าหมายผลักดันให้คนไทยรู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่าง ๆ พร้อมช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถปฏิบัติงานและให้ความรู้กับประชาชนได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ในช่วงปีที่ ผ่านมา คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีสถิติเพิ่มสูงขึ้น กลุ่มมิจฉาชีพมีกลโกง – วิธีการหลอกลวงประชาชนหลากหลายรูปแบบส่งผลให้ทั้งภาคส่วนธุรกิจและประชาชนได้รับความเสียหายและสูญเสียทรัพย์สินเป็น จำนวนมาก ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยได้ประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวเตือนภัยผ่านช่องทางทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนรู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพที่อาจแอบอ้างใช้ชื่อ และตราสินค้าของไปรษณีย์ไทย เพื่อหลอกให้หลงเชื่อจนนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สิน เช่น หลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลบัตรเครดิต หลอกให้โอนเงินชำระค่าพัสดุที่ไม่สามารถนำจ่ายได้ หลอกให้แลกคะแนนเพื่อรับรางวัล เป็นต้น อีกทั้งยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่ถูกนำชื่อไปแอบอ้าง รวมทั้งการคิดค้นกลโกงรูปแบบใหม่ ๆ ที่ซับซ้อนและคนไทย บางกลุ่มยังรู้ไม่เท่าทัน จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องกระจายประเด็นเหล่านี้ให้เข้าถึงทุกภาคส่วน ทำให้ประชาชนทราบถึงภัยออนไลน์ และวิธีการป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
เพื่อให้กระบวนการลดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ล่าสุด ไปรษณีย์ไทยจึงได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติสนับสนุนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ได้มีการรวบรวมรูปแบบลักษณะการกระทำผิด แผนประทุษกรรม วิธีการหลอกลวงที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ รวมทั้งวิธีการป้องกัน แนวทางการตรวจสอบข้อมูลการกระทำผิด เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนได้รู้เท่าทันกับมิจฉาชีพ โดยไปรษณีย์ไทย ในฐานะหน่วยงานด้านการสื่อสารและขนส่งของชาติ จะทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่งสื่อประชาสัมพันธ์ดังกล่าวโดยนำร่องจำนวน 1,500,000 ชุด ไปยังบ้านเรือนประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้รู้เท่าทัน ไม่หลงกล และตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และจัดส่งอีกจำนวน 500,000 ชุด ไปยังสถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีสื่อหรือเครื่องมือ ในการประชาสัมพันธ์ความรู้ให้แก่ประชาชน
พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยียังมีสถิติเพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ยวันละ 600-700 ราย แม้ตำรวจจะเร่งปราบปรามจับกุมทุกมิติมาต่อเนื่อง แต่กลุ่มคนร้ายจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการกลโกง หลอกลวงประชาชนหลายรูปแบบแตกต่างกัน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน และกระทบต่อระบบเศรษกิจของประเทศ ตำรวจเพียงหน่วยเดียวจึงไม่สามารถแก้ปัญหา จำเป็นต้องอาศัยภาคีเครือข่ายในการร่วมกันป้องกัน รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะประชาชน ถือเป็นด่านแรกของการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหา จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มไซเบอร์วัคซีนให้ถึงประชาชนโดยเร็วและมากที่สุด
ต้องขอบคุณ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ที่เข้ามาช่วยผลักดัน ไซเบอร์วัคซีน ให้ถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยตำรวจได้รวบรวมรูปแบบลักษณะการกระทําผิด แผนประทุษกรรม วิธีการหลอกลวง ที่เกิดขึ้นบ่อย วิธีการป้องกัน และวิธีการตรวจสอบข้อมูลการกระทําผิด ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ สื่อเตือนภัย สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน (Cyber Vaccine) รู้เท่าทันรูปแบบกลโกงต่างๆ ของมิจฉาชีพ 18 รูปแบบ ซึ่งไปรษณีย์ไทยจะจัดส่งสื่อประชาสัมพันธ์กลโกงของมิจฉาชีพในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในรูปแบบเอกสาร ขนาด A4 สําหรับแจกจ่ายให้ประชาชน จํานวน 20 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ และโปสเตอร์ ขนาด A3 สําหรับสถานีตํารวจทั่วประเทศ โดยจะเริ่มทยอยจัดส่งสื่อเอกสารประชาสัมพันธ์ภายในเดือนนี้