สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดเผยผลการสำรวจข้อมูลการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมของภาคเอกชน รอบปีสำรวจ 2561 แตะ 1 % ของจีดีพี เร็วกว่าที่ตั้งเป้าเผยอานิสงส์จากการตื่นตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผนวกกับมาตรการกระตุ้นของรัฐ อาทิ โครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) การให้ทุนสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs/Startup และการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการ ด้านเอกชนทุ่มทุนวิจัยพัฒนาถึง 123,942 ลบ. ยานยนต์ อาหาร ปิโตรเลียมนำโด่ง เร่งปรับปรุงผลิตภัณฑ์เอาใจผู้บริโภค เลขาธิการ สวทน. คาดตั้งกระทรวงใหม่ ช่วยดันลงทุน R&D ทะยานสู่ 1.5 % ของจีดีพีได้ภายในปี 64
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยถึงตัวเลขการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งภาครัฐ และเอกชนว่า ในรอบปีสำรวจรอบ 2561 การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มสูงถึง 155,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากรอบสำรวจปีก่อนหน้า โดยหากเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี คิดเป็นร้อยละ 1 ต่อจีดีพี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และแตะร้อยละ 1 ของจีดีพี เร็วกว่าที่คาดหนึ่งปี ทั้งนี้ ตัวเลขการลงทุนดังกล่าวแบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 123,942 ล้านบาท และการลงทุนของภาครัฐ 31,201 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนโดยประมาณร้อยละ 80 และร้อยละ 20 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน พบว่า มีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.80 ต่อจีดีพี โดยเพิ่มจากรอบสำรวจปีก่อนหน้า ที่ภาคเอกชนมีการลงทุน 82,701 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.57 ต่อจีดีพี สอดคล้องกับตัวเลขจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ (FTE) ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 21.0 ต่อ ประชากร 10,000 คน และคาดว่าหากรัฐ และเอกชนยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเกิดขึ้นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศผ่านการสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยมีการปฏิรูป 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การปฏิรูปการบริหารราชการ เพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานด้านวิจัยและการสร้างบุคลากรให้เป็นไปอย่างคล่องตัว 2. การปฏิรูปกฎระเบียบ เพื่อผลักดันให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสามารถสร้างประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน และ 3. ปฏิรูประบบงบประมาณ ด้วยการปรับรูปแบบและวิธีการทางงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การลงทุนวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมของภาคเอกชนเป็นไปตามเป้าหมายของประเทศที่วางไว้ คือ ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเป็นร้อยละ 1.5 ต่อจีดีพี และบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (FTE) จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 25.0 ต่อประชากร 10,000 คน ภายในสิ้นปี 2564
สำหรับปัจจัยบวกในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในรอบปีสำรวจ 2561 นี้ เกิดจากการตื่นตัวในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอง ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นให้เอกชนมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้นผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การให้ทุนสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม นโยบายส่งเสริมการลงทุนทั่วไป โดยให้สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ (Product-based Incentives) และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าโครงการ ตลอดจนมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการขยายเขตเศรษฐกิจนวัตกรรม Economic Zone of Innovation เช่น เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) การขยายจำนวนนิคมวิจัย (อุทยานวิทยาศาสตร์) ใน 3 ภูมิภาค เป็นต้น
ทั้งนี้ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการวิจัยและพัฒนาสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการลงทุนสูงถึง 18,855 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและสร้างสนามทดสอบรถยนต์ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมอาหาร มีการลงทุน 16,203 ล้านบาท ในการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตเป็นระบบอัตโนมัติ วิจัยนวัตกรรมในการผลิตบรรจุภัณฑ์ และการใช้งานของผู้บริโภค รวมถึงตั้งศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนา และอันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่มีการลงทุน 11,721 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนด้านการวิจัยเทคโนโลยีการผลิตและขนส่งปิโตรเลียม วิจัยพลังงานประยุกต์และยานยนต์ และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงทางเลือก เป็นต้น สอดคล้องกับการเปิดเผยตัวเลขการลงทุนของภาคเอกชนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ก่อนหน้านี้ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา อาทิ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายยานยนต์แห่งอนาคต โดยได้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles – HEV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำสมัย ผสานทั้งนวัตกรรมที่เหนือระดับและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีการพัฒนาสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูป อาหารพร้อมปรุง และอาหารแปรรูปพร้อมทาน และการก่อตั้งศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในส่วนของสินค้าใหม่และบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคมากขึ้นด้วย
ด้านผลสำรวจภาคบริการที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด คือ บริการทางการเงินและประกันภัย มีการลงทุน สูงถึง 6,007 ล้านบาท มาจากการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงการบริการใหม่ การพัฒนา Fintech เพื่อนำมาใช้พัฒนาการบริการด้านการเงินให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการ รองลงมาคือ กลุ่มบริการด้านธุรกิจอื่น ๆ (การบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์และสอบเทียบมาตรฐาน) ที่ลงทุนด้วยเม็ดเงิน 4,724 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมามาก ผ่านการจัดซื้อและพัฒนากระบวนการทดสอบเพื่อทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับภาคค้าปลีกค้าส่งที่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงสุด คือ ห้าง ร้านสะดวกซื้อ และร้านของชำ โดยมีการลงทุน 10,192 ล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาทำการวิจัยและพัฒนาภายในบริษัทตนเองมากขึ้นในเรื่องระบบการตรวจสอบสินค้าใหม่ ปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ รองลงมา กลุ่มธุรกิจค้าส่ง ตัวแทนจำหน่าย มีการลงทุน 7,995 ล้านบาท จากการพัฒนากระบวนการผลิต ปรับปรุงห้องปฏิบัติการ จ้างบุคลากรด้านวิจัยเพิ่มขึ้น เป็นต้น
เลขาธิการ สวทน. ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนการทำนวัตกรรมของผู้ประกอบการ ในรอบปีสำรวจ 2561 พบว่า มีผู้ประกอบการทำนวัตกรรมประมาณร้อยละ 76 โดยลักษณะการทำนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนไป เน้นการทำนวัตกรรมที่มีความยากและซับซ้อนมากขึ้น คือ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมกระบวนการ โดยสองนวัตกรรมนี้ต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจกิจกรรมที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมภายในบริษัทที่พบว่า ผู้ประกอบการมีการวิจัยและพัฒนาภายในกิจการหรือกลุ่มกิจการมากขึ้น มีการซื้อความรู้จากภายนอกเข้ามาพัฒนาต่อยอดเพิ่มขึ้น รวมถึงการเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ (Feasibility) และการทดสอบก่อนนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด
หากพิจารณาในรายละเอียดจากการสำรวจ พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน มาจากความต้องการของผู้บริโภคและความต้องการในการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก โดยแหล่งข้อมูลในการทำนวัตกรรมและวิจัยและพัฒนามาจากทั้งลูกค้า ภายในบริษัทหรือบริษัทในเครือด้วยกัน รวมถึงมีความร่วมมือในการทำกิจกรรมนวัตกรรมและวิจัยและพัฒนากับลูกค้าและซัพพลายเออร์ไทยเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค มีการลด/แบ่งความเสี่ยงและต้นทุน บริหารการใช้เวลาเข้าสู่ตลาดหรือเทคโนโลยีสั้นลง รวมถึงยังมีการสร้างพันธมิตรทางกลยุทธ์ในระยะยาวด้วย อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังประสบอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมนวัตกรรมและวิจัยและพัฒนาในด้านการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ขาดเงินทุนในการทำนวัตกรรมที่มีต้นทุนสูง ขาดข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี รวมถึงยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับตลาด เป็นต้น
นอกจากผลสำรวจข้อมูลการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมของภาคเอกชนแล้ว สวทน. ได้มีการสำรวจความต้องการบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future S-Curve) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับรูปแบบของอุตสาหกรรมที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิต (Manufacturing and Asset-Based Industry) สู่โครงสร้างเศรษฐกิจการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้ความรู้การผลิตขั้นสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ (Knowledge-Based Industry) ซึ่งประกอบด้วย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม โดยเป็นการสำรวจความต้องการบุคลากรแต่ละอุตสาหกรรม ในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2019 – 2023) พบว่า ทั้ง 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภาคเอกชนมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูงในอีก 5 ปีข้างหน้ารวมจำนวน 107,045 ตำแหน่ง แบ่งเป็น อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ มีความต้องการอยู่ที่ประมาณ 29,735 ตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งนักบินและช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ที่มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวทั้งจากนโยบายของภาครัฐ ภูมิศาสตร์ด้านตำแหน่งที่ตั้ง รวมถึงการเติบโตขึ้นของการซื้อขายสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว อุตสาหกรรมดิจิทัล มีความต้องการอยู่ที่ประมาณ 34,505 ตำแหน่ง เช่น Data Scientist, Full-Stack Developer อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม มีความต้องการอยู่ที่ประมาณ 12,816 ตำแหน่ง เช่น Data Scientist, Robotic Control Engineer, Mechanical Engineer อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร มีความต้องการอยู่ที่ประมาณ 20,153 ตำแหน่ง เช่น Scientist Chemist, Scientist Biologist และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ มีความต้องการบุคลากรในอนาคต อยู่ที่ประมาณ 9,836 ตำแหน่ง เช่น Biologist, Mechanical Engineer ตามลำดับ
“ในการก้าวไปสู่เป้าหมายการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาให้ได้ถึงร้อยละ 1.5 ต่อจีดีพี การเพิ่มบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเป็น 25.0 ต่อประชากร 10,000 คน ภายในสิ้นปี 2564 ตลอดจนการสร้างบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อป้อนภาคเอกชนให้ตรงและทันต่อความต้องการนั้น ประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง โดยในส่วนของ สวทน. เอง จะเร่งเดินหน้าในการจัดทำมาตรการกระตุ้นการลงทุนวิจัยและนวัตกรรม และจัดทำ Skill and Brainpower Planning การวางแผนด้านกำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่เน้นการพัฒนากำลังคนของประเทศทั้งในมิติทักษะและความรู้ควบคู่กันไป ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของประเทศที่ยังไม่เคยทำมาก่อน และจะช่วยตอบโจทย์ในการวางแผนทั้งด้านการลงทุน และการใช้กำลังคนของประเทศได้ นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะช่วยตอบโจทย์เรื่องดังกล่าวโดยตรง ซึ่งในการทำงานของกระทรวงฯ จะมี Super Board ที่เรียกว่า “สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” ที่จะช่วยกำหนดนโยบายในการทำวิจัยให้มีทิศทางยิ่งขึ้น และจะจัดสรรงบประมาณ (Budget Allocation) ให้สอดรับกับนโยบาย ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม ภาครัฐถือเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนตัวเลขการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาไปสู่เป้าหมาย การเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลชุด