กฟผ. ร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มศว. ทำหลักสูตรพหุวิทยาการ STEM2 เรื่องพลังงานไฟฟ้าในประเทศ ภายใต้หัวข้อ “ถ้าพรุ่งนี้ไม่มีไฟฟ้า” โดยนำเสนอประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ผ่าน 8 สาระวิชาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พร้อมตั้งเป้าหมายขยายผลใช้หลักสูตรนี้สอนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นทั่วประเทศ หลังจากประสบความสำเร็จแล้ว 80 โรงเรียน
นายสมรักษ์ เพ็ชรเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.จรรยา ดาสา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา และศาสตราจารย์ ดร.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ รองอธิการฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ร่วมในงานแถลงข่าวโครงการการขยายผลการใช้หลักสูตร “STEM2 เรื่อง พลังงานไฟฟ้าในประเทศ” และร่วมกิจกรรมประกาศผลและมอบรางวัลแก่นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ใช้หลักสูตรดังกล่าวส่งผลงานเข้าประกวด ณ หอดนตรีและการแสดงอโศกมนตรี 2 อาคารนวัตกรรมศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
นายสมรักษ์ เพ็ชรเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. เห็นความสำคัญของการเรียนรู้แบบบูรณาการในโรงเรียน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ผ่านรายวิชาต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนอยู่แล้วในชั้นเรียน จึงร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มศว. พัฒนาหลักสูตรพหุวิทยาการ STEM2 เรื่องพลังงานไฟฟ้าในประเทศ ภายใต้หัวข้อ “ถ้าพรุ่งนี้ไม่มีไฟฟ้า” สำหรับครูผู้สอน และขยายผลหลักสูตรไปยังครูผู้แทนจากโรงเรียนในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาเว็บไซต์ (http://stem2.science.swu.ac.th/) สำหรับเป็นสื่อกลางเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมใช้หลักสูตรนี้ และนำไปใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนแล้ว จำนวน 80 โรงเรียน พร้อมตั้งเป้าหมายจะขยายผลใช้หลักสูตรนี้สอนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นทั่วประเทศ
ทั้งนี้ หลักสูตร STEM2 เป็นหลักสูตรสำคัญที่นำเสนอประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย สถานการณ์การใช้ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้า พฤติกรรมและแนวโน้มการใช้ไฟฟ้า ผ่านการเรียนการสอนของ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในระดับชั้นมัธยมตอนต้น ได้แก่ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ และกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาพลศึกษา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียน มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับแหล่งพลังงานต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า สร้างสำนึกและปลูกฝังเยาวชนให้ใส่ใจในคุณค่าของพลังงาน และนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.จรรยา ดาสา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของการสร้างการเรียนรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าให้กับนักเรียนระดับมัธยมต้น ด้วยการใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการในทุกสาระวิชา ด้วยการสอดแทรกเนื้อหาสาระเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเข้าใจสถานการณ์อย่างรอบด้าน เห็นความเชื่อมโยงของการเรียนกับชีวิตจริง และส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหา การสร้างนวัตกรรม และสอดคล้องกับแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
ทั้งนี้พบว่า ระดับชั้นที่มีมาตรฐานและตัวชี้วัดของสาระวิชาเหมาะสมกับเนื้อหาคือ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยได้กำหนดเป็นสถานการณ์กระตุ้นการเรียนรู้และเนื้อหาในการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนเข้าใจสถานการณ์ปัญหาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จนสามารถบูรณาการความรู้และข้อมูลที่ได้จากการเรียนรู้มาออกแบบแนวทางหรือวิธีการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้มีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างยั่งยืน มั่นคง และออกแบบการนำเสนออย่างสร้างสรรค์
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “หลักสูตรสะเต็มกำลังสอง สู่ความยั่งยืนทางไฟฟ้า” โดยมีนายทิเดช เอี่ยมสาย ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมโรงไฟฟ้า กฟผ. รองศาสตราจารย์ ดร.ณสรรค์ ผลโภค อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา และผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.จรรยา ดาสา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา ร่วมเสวนา พร้อมทั้งมีการประกาศผลและมอบรางวัลแก่นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ใช้หลักสูตรดังกล่าวและส่งผลงานคลิปสั้น หัวข้อ “ฉันจะไม่หมดไฟ(ฟ้า)” เพื่อกระตุ้นความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้และวางแผนด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างมั่นคงต่อไป