ปัจจุบันนี้คนไทยใส่ใจ และให้ความสำคัญในเรื่องของการวางแผนเพื่อการเกษียณมากยิ่งขึ้น แนวโน้มสังคมผู้สูงอายุกำลังใกล้เข้ามา และที่สำคัญสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชน ครองโสด และใช้ชีวิตแบบครอบครัวเดี่ยวกันมากยิ่งขึ้น
การเริ่มต้นเก็บหอมรอมริบ เพื่อวางแผนเกษียณเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญ แต่จะออมอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมาย วันนี้ Biztalk มีคำแนะนำดีๆ จากคุณอุมาพันธ์ เจริญยิ่ง CFP รองกรรมการผู้จัดการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต มาดูกันเลยครับ
เริ่มวางแผนเกษียณตั้งแต่ตอนไหน ?
- ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี เพราะมีผลต่อการออมการลงทุน และดอกเบี้ยทบต้น เริ่มเก็บเร็วก็ถึงเป้าหมายเร็ว เช่น ตั้งเป้าหมายที่ 1 ล้านบาท ที่อายุ 60 ปี หากเริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปี ลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 5 % ต่อปีเราเก็บแค่ปีละ 8,300 บาท
แต่หากเริ่มตอนอายุ 30 ปี จะต้องเก็บปีละ 15,000 บาท ถ้าเริ่มตอนอายุ 40 ปี ต้องเก็บที่ปีละ 30,000 บาท แต่หากเก็บอายุ 50 ปี กลายเป็นต้องเก็บปีละ 80,000 บาท เห็นได้ชัดว่ายิ่งเริ่มเร็วยิ่งได้เปรียบ และหากมองค่าเฉลี่ยที่หลายสำนักฯ ประเมินเอาไว้ว่าหากเกษียณได้อย่างมีความสุข จะต้องมีเงิน 3 ล้านบาท ก็ใช้สูตรที่ว่าไว้ คูณ 3 เข้าไป
เงินที่ใช้ยามเกษียณ เท่าไหร่ถึงพอ ?
- ขอแนะนำว่าต้องใช้หลัก 3 อยู่ คืออยู่ที่ไหน ? อยู่อย่างไร ? และอยู่กับใคร ?
ที่อยู่หากเป็นที่พักอาศัยของรัฐราคาก็เริ่มต้นก็อยู่ที่ 300,000 บาท ไม่รวมค่าส่วนกลาง แต่หากของเอกชน ก็ไล่ระดับไปตั้งแต่ 600,000 บาท ไปจนถึงหลักหลายล้านบาท
อยู่อย่างไรก็คือการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ของเราเป็นอย่างไร เช่น หากอยากใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ระยะเวลาจากเกษียณคือ 60 ปี หากค่าเฉลี่ยอายุคือ 80 ปี หมายความว่าเราต้องใช้ชีวิตอีก 20 ปี ค่าใช้จ่ายของเราก็ตก 4,800,000 บาทเลย
อยู่กับใคร ? ก็ต้องดูว่า มีคนดูแลไหม ? มีลูกหลานมั้ย เพราะค่าใช้จ่ายคนดูแลก็ไม่น้อย
มีลูกถือว่าโชคดีมั้ย ?
- สภาพสังคมปัจจุบันอย่าเพิ่งคิดที่จะพึ่งลูก เพราะเขาเองก็ต้องมีภาระในการเลี้ยงดูลูกของเขาเหมือนกัน วางแผนด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
สภาพเศรษฐกิจแบบนี้จะออมกันได้ยังไง ?
- ตอนนี้รายได้ลดลงต้องไปดูที่รายจ่าย ดูเรื่องเงินออม พูดง่ายแต่ต้องลงมือทำ นั่นคือออมก่อนใช้ เอาจากรายรับที่มี ตั้งเป้าเลยว่าจะออมเงินเพื่อเกษียณในแต่ละเดือนเท่าไหร่
หากเอาสมการตั้งด้วยรายได้ ลบด้วยค่าใช้จ่าย แล้วถึงมาออม ไม่มีทางออมได้เลย เงินไม่เหลือแน่นอน
ตัวช่วยในการออมเพื่อเกษียณ ? แต่ละกลุ่มอาชีพ
- ถ้าเป็นการออมภาคบังคับ หากเป็นข้าราชการก็จะมีกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ หรือ กบข.
มนุษย์เงินเดือน มีกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 สำหรับคนที่เคยอยู่ในระบบมาก่อน แล้วออกมาทำอาชีพอิสระ อันนี้เป็นการออมแบบสมัครใจ หรือจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่นายจ้างช่วยสมทบอีกแรง
กลุ่มอาชีพอิสระไม่มีเงินเดือน กลไกที่ภาครัฐช่วยเหลือ จะเป็นภาคสมัครใจ คือกองทุนการออมแห่งชาติ หรือกองทุนประกันสังคมมาตรา 40
เพียงพอมั้ยกับการออมเหล่านี้ ? เพื่อการเกษียณ
- ปัจจุบันนี้มีช่องทางการออมที่จะสามารถ เพิ่มศักยภาพ ในการออมเพื่อการเกษียณและยังเป็นช่องทางในการลดหย่อนภาษีได้ มีทั้งกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF, กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญและใหม่ล่าสุดในปีนี้ คือกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF ซึ่งจะช่วยทำให้เงินออมของเราไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น
นี่ก็คือคำแนะนำดีๆ จากนักวางแผนการเงินชื่อดังที่มาช่วยชี้ทางสว่าง ให้กับเราในเรื่องการวางแผนเกษียณนะครับ เพราะฉะนั้นหลังอ่านบทความนี้ ไม่ใช่ปีหน้า ไม่ใช่เดือนหน้า Do it now ! เริ่มต้นตั้งเป้าหมายการวางแผนเกษียณตั้งแต่วันนี้เลยครับ