ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ASEAN Digital Ministers Meeting: ADGMIN) ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2568 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างอนาคตดิจิทัลที่มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุม โดยมีประเด็นสำคัญที่ได้รับการหารือและผลักดัน ดังนี้
1. ร่วมมือสกัดภัยร้าย! ป้องกันการหลอกลวงออนไลน์
ภัยคุกคามจากการหลอกลวงออนไลน์กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ที่ประชุม ADGMIN ครั้งนี้จึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยมีการรับรองรายงานการสำรวจการหลอกลวงออนไลน์ในอาเซียน (พ.ศ. 2566–2567) พร้อมกำหนดแนวทางปฏิบัติทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการหลอกลวงที่มีต้นตอจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การหลอกลวงทางโทรศัพท์ การใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการโกงเงิน ซึ่งมักมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มมิจฉาชีพในประเทศกัมพูชา เมียนมา และลาว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางในการเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน รวมถึงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าร่วมกันในภูมิภาค เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน
2. เสริมเกราะป้องกันภัยไซเบอร์ สร้างความมั่นคงในโลกดิจิทัล
เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่นับวันจะทวีความซับซ้อน ที่ประชุม ADGMIN ได้รับทราบการจัดตั้งศูนย์ ASEAN Cert ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและรับมือกับเหตุการณ์ด้านไซเบอร์ในภูมิภาค พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้ให้การรับรองเอกสาร ASEAN Checklist on Cyberspace Norms เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ และปกป้องเศรษฐกิจและความมั่นคงของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน
3. ปักหมุดอนาคต! ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน
การประชุม ADGMIN ครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค โดยสนับสนุนการจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) เพื่อเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการป้องกันการหลอกลวงออนไลน์
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางในการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้านดิจิทัล และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาส และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคอาเซียนในเวทีโลก
4. พัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างรับผิดชอบ ยึดหลักธรรมาภิบาลข้อมูล
การพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจจากที่ประชุม ADGMIN โดยมีการรับรองแผนปฏิบัติการสำหรับ Global CBPR และเอกสารธรรมาภิบาล AI ซึ่งครอบคลุมถึง Generative AI เพื่อส่งเสริมการพัฒนา AI ในภูมิภาคอย่างรับผิดชอบ โปร่งใส และคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมทั้งผลักดันการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม AI ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในภูมิภาค
5. เชื่อมต่ออาเซียนไร้พรมแดน ก้าวสู่ยุค 5G อย่างมั่นคง
ที่ประชุม ADGMIN ได้รับทราบความก้าวหน้าการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในภูมิภาค และหารือแนวทางในการลดค่าบริการข้ามแดน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อและการสื่อสารในยุคดิจิทัล พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการควบคุมซิมการ์ด เพื่อป้องกันการหลอกลวงข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายประเทศในภูมิภาคให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานซิมการ์ดที่ไม่ได้ลงทะเบียนในประเทศแนวเขตชายแดน เช่น ไทย – กัมพูชา และ ไทย – เมียนมา
6. ประกาศเจตนารมณ์! “ปฏิญญาดิจิทัลกรุงเทพ” สู่ภูมิภาคดิจิทัลที่เข้มแข็ง
“ปฏิญญาดิจิทัลกรุงเทพ” เป็นเอกสารสำคัญที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุม ADGMIN เพื่อกำหนดทิศทางอนาคตดิจิทัลของอาเซียน โดยเน้นย้ำถึงความมั่นคงปลอดภัย การเชื่อมต่อไร้รอยต่อ และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายโอกาสทางดิจิทัลไปสู่พื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล
ผนึกกำลังคู่เจรจา ยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัล
นอกเหนือจากการหารือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว การประชุม ADGMIN ครั้งนี้ยังเปิดเวทีหารือกับคู่เจรจาสำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เพื่อส่งเสริมมาตรฐานดิจิทัล และความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกในการต่อสู้กับการหลอกลวงออนไลน์ในระดับสากล
ความร่วมมือระดับทวิภาคี เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านดิจิทัล
ในโอกาสนี้ ประเทศไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกัมพูชาและฟิลิปปินส์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลในระดับทวิภาคี โดย MOU ไทย-กัมพูชา มุ่งเน้นการพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สินค้าและบริการของรัฐบาลดิจิทัล การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล และความปลอดภัยออนไลน์ ขณะที่ MOU ไทย-ฟิลิปปินส์ มุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ธรรมาภิบาลภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาเทคโนโลยีอุบัติใหม่ เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง IoT และข้อมูลขนาดใหญ่
ส่งไม้ต่อ! เวียดนามเจ้าภาพ ADGMIN ครั้งที่ 6
การประชุม ADGMIN ครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในปี 2569 โดยประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือ เพื่อสร้างภูมิภาคดิจิทัลที่เข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน และเติบโตไปด้วยกัน ภายใต้ความท้าทายและโอกาสในโลกยุคดิจิทัล
–ทรู หารือ ผบ.ตร. ตั้ง “วอร์รูม” สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปราบภัยออนไลน์ คุ้มครองประชาชน