วันนี้มีเรื่องมาชวนคุย!!
หลังจากเมื่อวานนี้ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ และ พูดคุยกับ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คุณวรวุฒิ มาลา เกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจควงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ที่ถูกจับตามากที่สุดในตอนนี้ นั่นก็คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) ที่ตอนนี้ผ่าน EIA และใกล้จะได้ลงนามในสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูล ซึ่งก็คือ กลุ่ม CP เพียงแค่คำถามแรก ๆ “แนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีมักกะสัน” และได้ฟังคำตอบจากท่าน ก็รู้เลยว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ …
.
ปัญหาคลาสสิค แรกที่การรถไฟฯต้องเจอ คือการเวนคืนที่ดิน และ การจัดการกับผู้บุกรุกพื้นที่ เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาพัฒนา สร้างรายได้แบ่งคืนให้กับการรถไฟฯ เรื่องของการเวนคืนก็เป็นไปตามกฎหมาย แต่การจัดการผู้บุกรุกนี่ก็หนักใช่เล่น เป็นปัญหามาเกือบทุกโครงการขนาดใหญ่ พื้นที่กว่า 100 ไร่ มีผู้บุกรุกเข้าไปตั้งรกรากอยู่ไม่น้อย การจะนำคนเหล่านั้นออกมาจากพื้นที่ ก็ต้องใช้ทั้งหลักกฎหมาย และ หลักมนุษยธรรม พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าคุณยอมออกจากพื้นที่ดี ๆ เราอาจจะช่วยเหลือเรื่องที่อยู่ใหม่ให้ แต่ถ้ายื่นข้อเสนอแบบนี้แล้วไม่ไป ก็ต้องใช้กฎหมายบังคับในการรื้อย้าย.. ฟังดูอาจโหดร้าย แต่ตามกฎหมาย เขามีสิทธิ์เต็ม 100%
.
เมื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้แล้ว ก็ต้องดูแบบแผนการพัฒนาของเอกชน เบื้องต้น คาดการณ์ว่า กลุ่มCP จะเข้ามาปรับโฉม อาคารผู้โดยสารของแอร์พอร์ต เรลลิ้งค์ มักกะสัน ให้มีความคึกคัก ดึงดูดคนเข้าใช้ระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น เราอาจได้เห็นร้านรวงต่าง ๆ ร้านอาหาร และ 7-11 เปิดในอาคารผู้โดยสาร ที่ตอนนี้เกือบจะกลายเป็นอาคารร้าง เพราะแทบจะไม่มีคนเดินไปมา ยกเว้นเจ้าหน้าที่ เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่ จะเข้าใช้บริการโดยเดินเข้าระบบผ่านทางเชื่อม ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT ส่วนอาคารผู้โดยสาร ที่เคยใช้เป็น CITY Check-In ทุกวันนี้เงียบเหงา ใช้ประโยชน์พื้นที่ได้เพียงการจัดงานอีเว้นท์ต่างๆ ที่นานๆ ครั้งจะมีเข้ามาเท่านั้น ความท้าทายก็คือ เมื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์แล้ว CP Group จะฟื้นระบบ CITY Check-In หรือไม่? และ จะดึงดูดคนเข้ามาเดินจับจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน … แต่ในทางทฤษฎี ประกอบกับ ตัวอย่างที่เห็นได้จากหลายประเทศแล้ว เรื่องนี้ น่าจะทำได้ไม่ยาก
.
ความท้าทายที่สำคัญอีกอย่างก็คือ พื้นที่ 100 ไร่ ที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงซ่อมรถไฟฯ ตั้งแต่สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เมื่อถูกโยกย้ายออกไปแล้ว พื้นที่ตรงนี้จะถูกพัฒนาเป็นอะไรได้บ้าง เท่าที่ได้ยินมาคร่าว ๆ คือการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาจจะเป็นคอมเพล็กซ์ ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ อาคารสำนักงาน อาคารที่อยู่อาศัย ฯลฯ ทำได้ทั้งนั้น เพราะทำเลตรงบริเวณดังกล่าว ถือว่าเป็นทำเลศักยภาพ อยู่ติดถนนอโศก..ใกล้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ ใกล้MRT ใกล้ทางด่วน และคือว่าเป็นไข่แดงของกรุงเทพฯ
.
แต่เมื่อมองไปรอบ ๆ พื้นที่ กลับพบว่า เต็มไปด้วยการก่อสร้างอาคารสำนักงานทันสมัย คอนโดมิเนียมสูงใหญ่ ห้างสรรพสินค้าก็อยู่ไม่ไกล ทั้ง เซ็นทรัลพระราม9 , เทอร์มินอล21 และ ฟอร์จูนฯ รวมถึงห้างร้านย่านรัชดาฯ ที่อยู่ไม่ไกล ที่เขาพัฒนามาอยู่ก่อนแล้ว ก็ถือว่ามีความยากพอสมควร จากภาวะเศรษฐกิจ และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนเมืองที่เปลี่ยนไป ดังนั้นพื้นที่พัฒนาน้องใหม่ ตั้ง 100 ไร่ จะเอามาทำอะไรถึงจะคุ้ม???
.
เชื่อว่า คำถามนี้ ทาง CP มีคำตอบในใจอยู่แล้ว และน่าจะเป็นคำตอบแบบที่นักธุรกิจเบอร์ 1 ของไทยน่าจะทำได้ดี
.
แต่ลองทิ้งคำถามง่าย ๆ ตรงนี้ว่า ถ้าคุณ เป็น CP … คุณอยากพัฒนาที่ดิน 100 ไร่ตรงนี้ ให้เป็นอะไร????