บ๊อช สรุปผลโครงการ “บลู สกาย” ความร่วมมือช่วยบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศในประเทศไทย

บ๊อช สรุปผลโครงการ “บลู สกาย” ความร่วมมือช่วยบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศในประเทศไทย

บ๊อช ร่วมกับ สภาลมหายใจเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัวแทนครัวเรือนอาสาสมัครในชุมชนหมื่นสารจังหวัดเชียงใหม่ เผยผลสรุปโครงการ “บลู สกาย” โครงการความร่วมมือเพื่อช่วยบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ภายใต้แนวคิดโครงการ “บ้านสู้ฝุ่น” ซึ่งริเริ่มโดย สภาลมหายใจเชียงใหม่ ในการจัดการพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกพรรณไม้สู้ฝุ่นในครัวเรือนเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กในจังหวัดเชียงใหม่ ผลสรุปของโครงการพบว่าการปลูกพรรณไม้สู้ฝุ่นจะช่วยยกระดับคุณภาพอากาศและลดปริมาณฝุ่นละอองมากน้อยอย่างไรนั้น ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สภาพอากาศ กิจกรรมในชีวิตประจำวันของครัวเรือนอาสาสมัคร รวมถึงจำนวนพรรณไม้ที่ปลูกและตำแหน่งการวาง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศด้วย

อย่างไรก็ดี การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากบ๊อชมีส่วนช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ จากการประมวลผลด้วยเซนเซอร์ประสิทธิภาพสูง ข้อมูลเชิงลึก เช่น ส่วนประกอบก๊าซประเภทต่างๆ ในอากาศเป็นข้อมูลสำคัญที่ต่อยอดไปสู่ความเข้าใจในสาเหตุการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ เพื่อปรับปรุงมาตรการป้องกันและบรรเทามลภาวะทางอากาศ เช่น การจัดการฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาทางการเกษตร หรือมลภาวะจากการจราจรบนท้องถนน เป็นต้น

เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าปลอดมลพิษ เพื่อใช้ในการขนส่งในประเทศไทย
ซัมซุง นำอวนจับปลาถูกทิ้งมาพัฒนาเป็นชิ้นส่วนใน The New Galaxy หนึ่งในแนวทางเพื่อลดมลพิษทางทะเล

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 บ๊อชได้ริเริ่มโครงการ “บลู สกาย” ดำเนินการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละออง (air quality monitoring box) ในบริเวณชุมชนหมื่นสาร และร่วมมือกับศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในโครงการ “บ้านสู้ฝุ่น” สนับสนุนการติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ Dust Boy ในครัวเรือนอาสาสมัคร โดยโครงการ “บลูสกาย” ใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ประสิทธิภาพสูงจากบ๊อชประมวลผลและนำเสนอดัชนีคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ และนำข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในบริเวณพื้นที่รอบชุมชนหมื่นสารที่วัดได้ มาเปรียบเทียบกับข้อมูลคุณภาพอากาศ จากเครื่อง DustBoy ในครัวเรือนอาสาสมัครชุมชนหมื่นสารที่เข้าร่วมโครงการ “บ้านสู้ฝุ่น” และสนับสนุนการแจกพรรณไม้สู้ฝุ่นที่มีคุณสมบัติในการดูดซับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ให้แก่อาสาสมัครในชุมชนหมื่นสาร แนวคิดพรรณไม้สู้ฝุ่นมีงานวิจัยสนับสนุนโดย ผศ.ดร. เยาวนิตย์ ธาราฉาย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปัจจุบัน โครงการบลู สกายได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

บ๊อช สรุปผลโครงการ “บลู สกาย” ความร่วมมือช่วยบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศในประเทศไทย

โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย และประเทศลาว กล่าวว่า “สถานการณ์มลภาวะทางอากาศของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน บ๊อชให้ความสำคัญกับการสรรสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่สอดคล้องไปกับทิศทางการขยายตัวของสังคมเมืองทั้งในประเทศไทย และระดับโลก เทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศนี้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้คนอย่างยั่งยืน”

รศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และระดับมลภาวะทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพของประชาชนชาวเชียงใหม่อย่างรุนแรง ความร่วมมือกับบ๊อช ในการนำเอาเทคโนโลยีที่สามารถติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีคุณภาพอากาศในบริเวณที่กำหนด ควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในชุมชน ช่วยสนับสนุนการต่อยอด คิดค้นการศึกษาวิจัยอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ได้อย่างยั่งยืน”

รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยถึงผลสรุปโครงการ “บลู สกาย” ว่า เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองของบ๊อช นั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนแนวความคิดของโครงการ “บ้านสู้ฝุ่น” เพราะการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของดัชนีคุณภาพอากาศและค่าฝุ่นละอองได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการจัดการปัญหาฝุ่นละอองได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม พบว่าในปีที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ประสบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน มีปริมาณฝนมากกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า รวมทั้งตัวแปรเกี่ยวกับจำนวนและตำแหน่งการปลูกพรรณไม้สู้ฝุ่นในบริเวณพื้นที่โครงการ และกิจกรรมในชีวิตประจำวันของครัวเรือนอาสาสมัครในช่วงการระบาดของโควิด ล้วนส่งผลต่อปริมาณฝุ่นซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ในช่วงกรอบเวลาของการดำเนินโครงการ ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถสรุปผลได้อย่างมีนัยสำคัญว่า พรรณไม้ที่ปลูกเพิ่มในครัวเรือนของอาสาสมัครในโครงการช่วยลดฝุ่นควันในอากาศได้มากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุและปัจจัยดังที่กล่าวมานั้น แต่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในครัวเรือน รวมไปถึงในพื้นที่สาธารณะ ย่อมมีส่วนช่วยลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ

โครงการ “บลู สกาย” นับได้ว่าเป็นความริเริ่มที่สำคัญในการสะท้อนความพยายามของหลายภาคส่วนที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้ในการสร้างพื้นที่สีเขียวซึ่งมีงานวิจัยรองรับแล้วว่าสามารถช่วยดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ และสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีในการสนับสนุนให้ครัวเรือนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินรอยตาม

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา รองประธานคณะกรรมการอำนวยการ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า “ปัญหามลภาวะในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีมาอย่างยาวนาน ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการบรรเทาปัญหาและสร้างความตระหนักรู้ในการสร้างพื้นที่สีเขียว การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากบ๊อช พันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ในการช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของภาคเอกชนอันจะนำไปสู่การบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่และในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน หนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการนี้คือ การที่พวกเราร่วมกันสร้างแรงกระเพื่อมที่จะช่วยผลักดันให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศรอบตัวมากขึ้น”

สนิท บุญแลน ตัวแทนชุมชนหมื่นสาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า “ในฐานะคนเชียงใหม่ มลภาวะทางอากาศส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ซึ่งสาเหตุหลักของปัญหานี้ก็มาจากฝุ่นควันจากการเดินทาง การก่อสร้าง การเผาพืชผลทางการเกษตรตามฤดูกาลที่สะสมมายาวนาน หากมีการร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงการมีส่วนร่วมของครัวเรือนในการช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ก็จะส่งผลให้ประชาชนชาวเชียงใหม่สามารถใช้ชีวิตในพื้นที่ที่มีอากาศสะอาด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้นักท่องเที่ยวกลับคืนมายังจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง”

ก้าวต่อไปของบ๊อชและความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลต่อการขยายตัวของสังคมเมือง ปัญหามลภาวะทางอากาศจากภาคการขนส่งนั้นเป็นสาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นควัน ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันบริหารจัดการ ในฐานะองค์กรนวัตกรรม บ๊อช หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ เป็นกรณีศึกษาของการใช้เทคโนโลยีเพื่อบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการประสานความร่วมมือของหลายภาคส่วนร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นภาคประชาชน ให้มีส่วนร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสัญจรอย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility) อันจะนำพาประเทศไทยมุ่งสู่สังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

“บ๊อช ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต มีแนวคิดการออกแบบระบบส่งกำลังยานยนต์ประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมความต้องการเทคโนโลยีขับเคลื่อนที่หลากหลายก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยียานยนต์ไปยังการสัญจรแบบไร้มลพิษในอนาคต ตอบโจทย์การสัญจรที่มีเป้าหมายสู่ความยั่งยืน” ฮง กล่าวปิดท้าย

Related Posts

Scroll to Top