สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 4 ประจำปี 2566 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 53.0 ปรับตัวลงจากระดับ 53.2 ของไตรมาสที่ผ่านมาและยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น โดยปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านคำสั่งซื้อฯ และด้านการลงทุนปรับตัวลดลง ขณะที่ปัจจัยด้านต้นทุนผู้ประกอบการ และด้านการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศจากการอ่อนค่าของเงินบาทและความล่าช้าในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ของภาครัฐ นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ในทางกลับกันอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น
หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะพบว่า เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 50.9 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 56.3 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 55.7 และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 52.8 ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวที่มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 47.0 ในไตรมาสนี้
ทั้งนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เร่งพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ออกมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การลงทุน รวมถึงดึงดูดบุคลากรศักยภาพสูงจากต่างประเทศ นอกจากนี้ภาครัฐควรสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อให้เกิดระบบนิเวศทางการค้าระดับภูมิภาค และส่งเสริมให้เกิดการจับคู่ระหว่างผู้ประกอบการ