DEPA ประกาศแผนปี 2566 ชูแนวคิด Digital Infinity

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงร่วมแถลงผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา และแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2566 ภายใต้ภารกิจต่าง ๆ ตามแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ดีป้า มุ่งพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นหน่วยงานแรก ๆ ของประเทศที่มุ่งสร้างเสริมทักษะด้านโค้ดดิ้งให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อปูพื้นฐานสู่เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงในอนาคต โดยปัจจุบันมีนักเรียนสามารถเข้าถึงทักษะด้านโค้ดดิ้งมากกว่า 4.2 ล้านคน เพิ่มศักยภาพกำลังคนดิจิทัลผ่านการ Upskill, Reskill และ New Skill พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังยกระดับภาคเศรษฐกิจสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ โดยสร้างดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทย 142 ราย เกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 16,000 ล้านบาท ผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัพเข้าสู่ระบบและได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ซึ่งดิจิทัลสตาร์ทอัพนับเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการทรานส์ฟอร์มกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก (Real Sector) ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและบริการ ภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตรกรรม

นอกจากนี้ ดีป้า ยังดำเนินการขับเคลื่อนชุมชนสู่สังคมดิจิทัล โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชมสามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาขีดความสามารถในกระบวนการผลิต ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มั่นคง เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมีชุมชนที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลมากถึง 281 ชุมชน ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน ผู้สูงวัย กลุ่มเปราะบางเกิดความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ตระหนักถึงประโยชน์ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่น้อยกว่า 9 ล้านคน ส่งเสริมให้เกิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จำนวน 30 พื้นที่ใน 23 จังหวัด ส่งคนรุ่นใหม่กลับไปทำงานเพื่อพัฒนาภูมิลำเนาของตนเอง และบูรณาการการทำงานกับท้องถิ่นผ่านโครงการนักส่งเสริมดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (Smart City Ambassadors) อีกทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนวัตกรรมดิจิทัล ผ่านโครงการ Thailand Digital Valley ที่ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 และกระจายการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลสู่ทุกภาคส่วนผ่านการดำเนินงานของสำนักงานฯ สาขาของ ดีป้า ที่กระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

สำหรับปี 2566 ดีป้า พร้อมต่อยอดภารกิจต่าง ๆ ตามแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้แนวคิด “DIGITAL INFINITY – ดิจิทัลไม่มีที่สิ้นสุด” ประกอบด้วย

Ecosystem and Beyond

ที่ผ่านมา ระบบนิเวศดิจิทัลถูก Disrupt จากภาวะเศรษฐกิจ การค้า และผู้คนที่เปลี่ยนไป ดังนั้น ดีป้า จะมุ่งสร้างชุมชนของเหล่าดิจิทัลสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางของดิจิทัลสตาร์ทอัพทุกชาติ และทุกอุตสาหกรรม ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) แต่ครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) เกม (Game) ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware & Smart Device) รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมดำเนินการสร้างกลไกส่งเสริมการลงทุนที่จะกลายเป็นหนึ่งในระบบนิเวศสำคัญในการเปิดตลาดประเทศไทยและกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตรียมความพร้อมขยายตลาดเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ (Main Land) โดยมีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานการเชื่อมโยงสู่ประเทศจีน

National Transformation and Beyond

เมื่อมีชุมชนดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เข้มแข็งแล้ว ประเทศไทยจะต้องมีกลไกที่จะช่วยทรานส์ฟอร์มภาคธุรกิจและบริการภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างสรรค์เครื่องมือและบริการดิจิทัล ทำอย่างไรให้กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงภาคเกษตรกรรมได้รับการทรานส์ฟอร์มทั้งระบบ ทั้งแผ่นดิน (National Transformation) หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยในปี 2566 ดีป้า จะเร่งขับเคลื่อนให้เกิดเครื่องมือใหม่ ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมไปสู่ระบบอัตโนมัติมากขึ้น เช่น การนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิต ขณะเดียวกัน ดีป้า จะเร่งเพิ่มมูลค่าให้กับภาคเกษตรกรรม โดยการยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาประยุกต์ใช้ และวางรากฐานเตรียมความพร้อมเข้าสู่กลไกตลาดโลก

Technology and Beyond

ปี 2566 ดีป้า จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยเฉพาะ Big Data, Blockchain และ AI ซึ่งมองว่า ทุกภาคส่วนจะต้องรู้ เข้าใจ ตระหนักถึงความปลอดภัย และประยุกต์ใช้เป็น นอกจากนี้ ประเทศไทยจะต้องเร่งสร้างเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ที่เป็นของตนเอง เพื่อเป็นอาวุธ หรือเกราะป้องกันเมื่อต้องแข่งขันทางเทคโนโลยีกับคู่แข่งต่างชาติ อีกทั้งนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ นอกจากนี้ ประเทศไทยจะต้องจับตาการเข้ามาของเทคโนโลยีในจินตนาการที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 6G และ Quantum Computing ที่จะเข้ามามีส่วนสำคัญกับทุกมิติในอนาคต

Policy and Digital Inclusion

สุดท้ายคือเรื่องของนโยบายที่ ดีป้า จะดำเนินการเพื่อจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ เน้นการทำ Digital Inclusion โดยทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นฐานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนกระจายการทำงานไปสู่ทุกประเทศในภูมิภาค เพื่อให้ไทยกลับมาเป็น ‘เสือ’ อีกครั้งเหมือนในอดีต โดยไทยจะต้องปลดล็อคกระบวนการทางกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศในการดึงดูดนักลงทุน หรือผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ทำอย่างไรให้ ‘คน’ ในภูมิภาคสามารถเข้าถึงและใช้นโยบายที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงเปิดประตูการค้าหรือการทำงานร่วมกัน หาก ดีป้า ไม่ดำเนินการ ประเทศไทยไม่ลงมือทำจะก้าวไม่ทันประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน

Looking Forward

ดีป้า จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ผ่านการจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (National Big Data Institute: NBDi) เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการทำงานเพื่อผลักดันประเทศ (Data Driven Nation) ด้วย พลังของคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจะสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ส่วนประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตามแนวคิด “Big Data for All”

นอกจากนี้ ดีป้า จะเร่งกระจายการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการผ่านเครือข่ายการทำงานในรูปแบบสำนักงานฯ สาขาทั้ง 7 สาขาทั่วประเทศของ ดีป้า ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานฯ สาขาภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานฯ สาขาภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานฯ สาขาภาคอีสานตอนกลาง จังหวัดขอนแก่น สำนักงานฯ สาขาภาคอีสานตอนล่าง จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานฯ สาขาภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี สำนักงานฯ สาขาภาคใต้ตอนบน จังหวัดภูเก็ต สำนักงานฯ สาขาภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดสงขลา ที่ทั้งหมดจะไม่ได้เป็นเพียงสำนักงานฯ สาขา แต่จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการทรานส์ฟอร์มประเทศ อีกทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึง และสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยดำเนินงานเสมือนเป็นหนึ่งในครอบครัวของ ดีป้า ผ่าน d-space และ d-station

“แผนการดำเนินงานต่าง ๆ ถือเป็นความท้าทายไปอีกขั้น ซึ่ง depa จะไม่หยุดนิ่ง เราไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่า สิ่งต่าง ๆ จะต้องแล้วเสร็จภายในปี 2566 แต่เราพร้อมทำงานเต็มที่ ทำงานอย่าง Beyond ควบคู่ไปกับการประสานการทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ โดยมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลรอบด้าน และให้ประเทศไทย รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

Scroll to Top