ETDA เปิดเวทีสัมมนาวิชาการ Cyberspace หวังตั้งต้นทิศทางความปรองดองบนโลกไซเบอร์

ETDA เปิดเวทีสัมมนาวิชาการ “International Cyberspace : The New Frontier for Peace and Cooperation” หวังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในและต่างประเทศ จุดประกายบริหาร ผลักดันนโยบายระดับชาติในการสร้างความปรองดองและความสงบสุขบน Cyberspace โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกอากาศ ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดงาน และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองเอเชีย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต้อนรับ

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ “International Cyberspace : The New Frontier for Peace and Cooperation” ว่า เรื่องของ Cyberspace ได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญ ที่นานาประเทศใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ขับเคลื่อน Digital Thailand และ Thailand 4.0 ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้วางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น Internet โครงการเน็ต เน็ตประชารัฐ เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงการให้บริการ และข้อมูลความรู้ต่างๆ ขณะเดียวกัน Cyberspace ก็มีประเด็นเรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นที่นานาประเทศจะต้องร่วมมือกันในการดูแลเรื่องนี้ ดังเช่นที่ได้เคยทำร่วมกันมาแล้วในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในการดูแลและสร้างสมดุลระหว่าง Cybersecurity Privacy และสิทธิเสรีภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ประเทศไทยจะเป็นประธาน ASEAN ในปี 2019 ประเด็นในการดูแลเรื่อง Cyberspace จะเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยจะทำงานร่วมกันกับ ASEAN และนานาประเทศต่อไป

ด้านนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า เรื่องของ Cyberspace ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ETDA จึงได้จัดการสัมมนาวิชาการ “International Cyberspace : The New Frontier for Peace and Cooperation” ขึ้นในครั้งนี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษในระดับนโยบาย รวมทั้งนักวิชาการจากทั่วโลกเข้าร่วม อาทิ นายชอกัต อาซิส อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน, นายจิกมี โยเซอร์ ทินลีย์ อดีตนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน, นายเออบิน คริสเตียน อาลิน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ราชอาณาจักรสวีเดน, นายโคเซ่ อิสโดร คามาโช่ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์, ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด เคนเนดี้ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายโลกและนโยบาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และนายจูฮา คริสเตนเซ่น ผู้อำนวยการศูนย์ Peace Architecture and Conflict Transformation Alliance ฟินแลนด์

การจัดงานสัมมนาวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนอดีตผู้นำของประเทศต่าง ๆ ที่บริหารและผลักดันนโยบายระดับชาติในการสร้างความปรองดองและความสงบสุขบน Cyberspace และจะเป็นจุดตั้งต้นของการกำหนดทิศทางและนโยบายการสร้างความปรองดองบนโลก Cyberspace ให้เหมาะสมกับบริบทนานาประเทศต่อไป

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองเอเชีย (Asian Peace and Reconciliation Council : APRC), อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า คณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย มีอดีตผู้นำ รัฐมนตรี และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาคธุรกิจภาคการศึกษาจากประเทศต่าง ๆ ร่วมเป็นสมาชิกจำนวน 28 คนด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมสันติภาพและความปรองดองในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในปีนี้ ทาง APRC เห็นถึงความสำคัญประเด็นเทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมหรือบทบาทในการกำกับดูแลบน Cyberspace ซึ่ง ETDA ได้เชิญ APRC ร่วมหารือในประเด็นนี้ด้วย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก นอกจากปัจจัยหลักๆ เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหารและยาแล้วนั้น สมาร์ทโฟนได้กลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันอีกอย่างหนึ่งด้วย สำหรับคำว่า Digital Age ซึ่ง digit นอกจากจะหมายถึงตัวเลขแล้ว ยังหมายถึง นิ้วมือ (finger) จึงมองว่า Digital Age นั้นมี 2 ความหมาย นอกจากจะหมายถึงยุคของ 0110 แล้ว ยังหมายถึงยุคที่โลกสามารถจัดการได้ด้วยปลายนิ้ว

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงประเด็นการเชื่อมโยงโลกทั้งใบได้แค่ภายใน Palm หรือ Smartphone ซึ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ การเกษตร การเงิน ยังมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ ทั้งการปรับตัวให้เป็นโลกที่ไร้กระดาษ (Paperless) หรือ ไร้เงินสด (Cashless) ซึ่งสังคมที่ไร้พรมแดนนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่ให้ได้มาหารือร่วมกันว่าเราจะใช้ประโยชน์จากโลกไร้พรมแดนนี้อย่างไร และจะปกป้องดูแลหรือบริหารจัดการความท้าทาย ความเสี่ยง หรือความมั่นคงปลอดภัยนี้อย่างไร การสัมมนาในครั้งนี้ จึงป็นโอกาสที่ดีที่จะได้รับฟังความคิดเห็น หรือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันกับกลุ่มผู้ที่กำหนดนโยบาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดสันติภาพและความปรองดองในสังคมดิจิทัลต่อไปด้วย

Scroll to Top