ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า Trend และ Future Insight คือหัวใจสำคัญของธุรกิจยุคใหม่ที่ใช้ขับเคลื่อนการเติบโตสู่อนาคต ผู้บริโภคคนไทยได้เห็นข่าวสารการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ข้ามชาติ รู้กระแสความยั่งยืนที่เข้ามากระทบ รวมไปถึงการได้ใช้งานแพลตฟอร์มที่มาจากต่างประเทศ จึงมีความคาดหวังว่าจะได้รับบางอย่างจากผู้ประกอบการไทยด้วย
finbiz by ttb จึงขอแนะเทรนด์อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภค และพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับ SME นำไปต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจ
รู้ทัน…ความคาดหวังผู้บริโภค
ความคาดหวังของผู้บริโภคจะส่งผ่าน 9 มิติของการใช้ชีวิต (9-Life Dimensions) จากค่านิยม 3 เรื่อง ได้แก่ 1) เศรษฐกิจตามใจ อยากได้อะไรต้องได้ ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเป็นผลพวงจาก Technology Disruption 2) ยอมจ่ายแพง เพื่อแลกกับประสบการณ์แปลกใหม่ ไม่เน้นการถือครองสินทรัพย์ และ 3) นิยมการเช่ามากกว่าเป็นเจ้าของ ค่านิยมนี้เริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่ง 9 มิติของการใช้ชีวิต จะนำมาสู่ความคาดหวังของผู้บริโภคว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2030 ดังนี้
- มิติด้านที่พักอาศัย มีอาณาเขตของตัวเองในที่พักอาศัย แต่เชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยี ครอบครัวไซส์เล็กสร้างความสัมพันธ์ผ่านโลกเสมือน ยอมแลกความเป็นส่วนตัวเพื่อความสะดวกที่เพิ่มขึ้น และมีหุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยภายในบ้าน
- มิติด้านการทำงาน ทำงานเพื่อปลดล็อกศักยภาพการทำงานได้สูงสุด มีวัฒนธรรมการร่วมมือ ความแตกต่างหลากหลายที่เปิดเข้าหากัน ทำงานได้หลายหน้าที่ และเข้าถึงทุกที่ สายบังคับบัญชาที่ลดน้อยลง เน้นกระจายอำนาจ เลือกทำงานเฉพาะที่ถนัด ร่วมมือกับหลายแห่ง
- มิติด้านการบริโภค บริโภคตามความต้องการ และให้ความสำคัญกับคุณค่าของประสบการณ์ ผู้บริโภคเริ่มไม่ยึดติดแบรนด์ อิทธิพลจากสังคม การรีวิว การให้เรตติ้ง มีความสำคัญต่อการตัดสินใจ รวมถึงการบริโภคแบบร่วมแบ่งปัน เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
- มิติด้านการเงิน เงินสดรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงได้ การทำธุรกรรมการเงินที่ราบรื่น ใช้เงินโดยไม่ต้องจับเงิน (Cashless) มีความเสี่ยงของค่าเงินจากการมีผู้ออกเงินตราเพิ่มขึ้น
- มิติด้านการเรียน การเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ได้จริง ใช้ได้ทันที และสามารถเปลี่ยนเป็นรายได้ ความรู้พร้อมใช้ การเรียนรู้แบบร่วมมือผ่านเทคโนโลยี วางแผนความก้าวหน้าในเส้นทางเฉพาะบุคคล
- มิติด้านการเข้าสังคม การมีหลากหลายอัตลักษณ์ในหลายบทบาท ทั้งในโลกความเป็นจริงและโลกเสมือน สังคมแตกเป็นกลุ่มย่อย ความเป็นชาติจางลง ความเป็นกลุ่มชัดขึ้น ตื่นตัวด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความสำเร็จทางสังคมคือการเติมเต็มตัวตน ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสินค้าและบริการ
- มิติด้านการใช้เวลาว่างและดูแลจิตใจ ผู้คนจะโหยหาสัมผัสของความเป็นมนุษย์ เห็นคุณค่าการใช้ชีวิตที่เนิบช้า ให้คุณค่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการสร้างประสบการณ์แบบเสมือนจริง
- มิติด้านการเดินทาง การเดินทางที่ต่อเนื่องไร้รอยต่อ สามารถคาดการณ์ได้ และรูปแบบการเดินทางที่ไม่ต้องเสียเวลาระหว่างทาง
- มิติด้านการดูแลสุขภาพ มีส่วนร่วมในการจัดการกับสุขภาพของตนเอง คือ การปลดล็อกขีดจำกัดความเป็นมนุษย์และเทคโนโลยี ที่เพิ่มสมรรถนะความคิดและความทรงจำ ติดตามสถานะร่างกายตนเองแบบเรียลไทม์ และวินิจฉัยโรคด้วยตนเองผ่านอุปกรณ์ Wearable
เทรนด์ธุรกิจอาหารอนาคต 2025
แนวโน้มการบริโภคอาหารของผู้คนในอนาคตจะผูกพันกับ 3 เรื่องใหญ่ 1) กินเพื่อสุขภาพ พัฒนาไปสู่อาหารการกินเพื่อสุขภาพ 2) กินเพื่อเข้าถึงประสบการณ์ “อยู่เพื่อกิน” เน้นเข้าถึงประสบการณ์ใหม่ ๆ และ 3) กินเพื่อโลก การอุปโภคบริโภคที่ทำร้ายโลกน้อยที่สุด ซึ่งนำไปสู่แนวโน้มธุรกิจอาหารแห่งอนาคต ภายใต้ 6 ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ดังนี้
- กินเพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ โภชนาการเฉพาะบุคคล เช่น Medical Food ในรูปแบบเจลลี่เสริมสารอาหาร หรือ ไอศกรีมที่กินก่อนนอน ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น และอาหารประเภทหมักดองมาแรง เช่น เจลลี่คอมบูชาที่อุดมด้วยพรีไบโอติกส์
- กินเพื่อรับประสบการณ์แปลกใหม่ มื้อแปลกเกินจินตนาการ เช่น ชานมไข่มุกท็อปปิ้งด้วยหมูสามชั้น
- กินเพื่อเสพเรื่องราวและอัตลักษณ์ การนำวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น ไข่ผำของภาคเหนือและภาคอีสานนำมาใส่ในเมนูอาหาร ต่างชาติเรียกว่าเป็นไข่ปลาคาเวียร์เขียว หรือ โกจิโซจู ผสมสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา เป็นแอลกอฮอล์ที่ดีต่อสุขภาพ
- กินเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โลกดีขึ้น เช่น ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตด้วยกระบวนการที่ประหยัดน้ำ ผงแมลงที่ช่วยเพิ่มโปรตีนในอาหาร และ Plant-Based Meat ที่มีความเหมือนเนื้อสัตว์และอร่อยยิ่งกว่าเดิม
- สร้างความมั่นใจ ปลอดภัย สะดวก และประสิทธิภาพสูงในการกิน Food Tech มาในรูปแบบ Smart Packaging เช่น บรรจุภัณฑ์ที่มีฉนวนกันความร้อนจากกระดาษแข็งที่นำมารีไซเคิลได้ หรือการใช้ 3D Printing มาออกแบบอาหารที่ง่ายต่อการกลืนของผู้สูงอายุ
- กินเพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น กินแล้วสวย ควบคุมน้ำหนักได้ เช่น นำคอลลาเจนมาเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
เปลี่ยนเทรนด์เป็นกลยุทธ์ธุรกิจ
เมื่อเจาะลึกไปยังเทรนด์ธุรกิจเครื่องดื่ม อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตที่ผู้บริโภคคนไทยให้การตอบรับ สามารถนำไปวางเป็นกลยุทธ์ของธุรกิจได้ดังนี้
· โฟกัสเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการใช้ซ้ำ ผลิตภัณฑ์กระบวนการผลิต ควรออกแบบให้ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน และสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าองค์กรธุรกิจหรือแบรนด์ตระหนักและทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
· ตอบโจทย์ความต้องการด้านการดูแลสุขภาพ ควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เติมเต็มการดูแลสุขภาพองค์รวม และความสามารถในการวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง เช่น Personalized Nutrition ที่มีการตรวจประเมินสุขภาพด้วยตนเอง และมีคำแนะนำเกี่ยวกับอาหารที่ควรกินเพื่อสุขภาพที่ดี
· บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ผ่านอาหารและเครื่องดื่ม และตอบโจทย์การกินให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น
· ต่อยอดความครบวงจร ต่อยอดสินค้าและบริการให้เกิดความครบวงจรกับชีวิตของลูกค้า เพื่อเพิ่มรายได้ที่มากขึ้น รวมถึงการจับจ่ายที่ตอบสนองผู้บริโภคอย่างครบวงจรในทุกพื้นที่ เช่น การรับชำระเงินที่หลากหลาย ครบทุกความต้องการ โดยทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ธนาคารก็รองรับและเข้าถึงได้ง่าย เช่น การติดตั้งเครื่องรูดบัตรเครดิตและบัตรเดบิต หรือ ttb smart shop ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถชำระเงินได้ด้วย QR Code และยังมีรายงานวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมร้านค้า สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยตอบสนองและต่อยอดในแง่ของบริการ สร้างความประทับใจได้ดียิ่งขึ้น
· ใส่ใจบริหารมุมมองความคิดเห็นของสังคมผู้บริโภค โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ เพราะผู้บริโภคจะเลือกสินค้าและบริการ โดยให้น้ำหนักกับมุมมองความคิดเห็นของสังคมหรือบุคคลที่เคยใช้ มากกว่าข้อมูลจากแบรนด์
จากเทรนด์และกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ finbiz by ttb หวังว่าผู้ประกอบการจะสามารถวางแผนธุรกิจเพื่อพิชิตใจผู้บริโภคคนไทย และเปิดประตูเข้าไปนั่งในหัวใจผู้บริโภคในตลาดโลกได้ไม่ยากนัก