Google เปิดเผยเทรนด์การค้นหาบน Search ให้แบรนด์มีส่วนร่วมกับกลุ่ม LGBTQ+

Google เปิดเผยเทรนด์การค้นหาบน Search ให้แบรนด์มีส่วนร่วมกับกลุ่ม LGBTQ+

ส่งท้ายเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนและแบรนด์ได้ออกมาแสดงจุดยืนความเป็นตัวตนพร้อมทั้งให้การสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ผ่านกิจกรรมและแคมเปญต่างๆ วันนี้ Google ประเทศไทย จะพาไปดูเทรนด์การค้นหาซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจผ่านการค้นหาบน Google Search ดังนี้

เทรนด์การค้นหาบน Google Search ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าผู้คนมีมุมมองเกี่ยวกับเพศวิถี (Sexuality) และเพศสภาพ (Gender) ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น การค้นหาคำว่า “unisex” และ “gender neutrality” (การไม่ระบุเพศใดเพศหนึ่ง) ของผู้คนทั่วโลกเพิ่มขึ้น 43% และ 57% ตามลำดับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยนั้น การค้นหาคำว่า “unisex” เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ เทรนด์การค้นหายังชี้ให้เห็นว่าผู้คนกำลังให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่เปิดกว้างทางเพศมากขึ้น เช่น การค้นหาคำว่า “เสื้อผ้า unisex” ในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นถึง 54% ในปีที่ผ่านมา

Facebook ประเทศไทย ฉลอง Pride Month สนับสนุนความหลากหลายทางเพศและกลุ่มครีเอเตอร์ LGBTQ+
Google ร่วมฉลอง Pride Month ตอกย้ำความสำคัญด้านความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม พร้อมสนับสนุนธุรกิจกลุ่ม LGBTQ+

จากผลวิจัยจาก Kantar ยังมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่คือกลุ่มที่มีมุมมองเกี่ยวกับเพศวิถีและเพศสภาพเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยคนอายุ 16-24 ปี มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับบทบาททางเพศ (Gender Role) น้อยกว่าคนอายุ 35-54 ปีถึง 23%

ซึ่งหากแบรนด์ต้องการก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงมุมมองด้านความหลากหลายทางเพศ จะต้องหันมาทบทวนการใช้เพศเป็นตัวกำหนดประเภทของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แบรนด์สื่อสารและสร้างสัมพันธ์กับกลุ่ม LGBTQ+ ได้ตลอดทั้งปี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการสร้างแคมเปญ Pride Month ในช่วงเดือนมิถุนายนเพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่พอ ดังนั้น การสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ จึงต้องวางแผนและลงมือทำให้ตรงจุดและต่อเนื่องตลอดทั้งปี ด้วยแนวทางดังนี้

สร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยการตลาดแบบไม่แบ่งแยก (Inclusive Marketing)

แบรนด์สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่ม LGBTQ+ ที่ปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ และเพิ่มการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ (Brand Engagement) ที่มีความหมายต่อคนกลุ่มนี้ได้ตลอดทั้งปี ด้วยการสร้างความหลากหลายทางการตลาด การใช้ภาษาที่เป็นกลางทางเพศ และนำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เปิดกว้างต่อนิยามของเพศสภาพให้มากยิ่งขึ้น

ขยายประเภทและนิยามของผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความยืดหยุ่นทางเพศมากขึ้น

ธุรกิจที่สร้างบนฐานของนิยามทางเพศอย่างธุรกิจแฟชั่น จะเชื่อมโยงกับกลุ่ม LGBTQ+ ได้ดีขึ้นก็ต่อเมื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับเพศที่มีความยืดหยุ่นหรือมีนิยามที่เปิดกว้างมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น Levi’s ได้เปิดตัวคอลเลกชันที่ไม่ระบุเพศ ซึ่งคัดสรรโดยพนักงาน Levi’s และเครือข่ายกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนการสนับสนุนความยืดหยุ่นทางเพศและอิสระในการแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริงของพนักงานและลูกค้าของแบรนด์

ผู้ค้าปลีกและแบรนด์ที่แบ่งประเภทผลิตภัณฑ์ตามเพศชายหรือหญิง สามารถปรับการจัดประเภทผลิตภัณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หากเว็บไซต์ของแบรนด์เสื้อผ้าจัดประเภทสูทไว้ในหมวดเสื้อผ้าชายและกระโปรงไว้ในหมวดเสื้อผ้าหญิง แบรนด์ก็จะพลาดโอกาสในการโปรโมตความหลากหลายทางเพศและการไม่แบ่งแยก รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงผู้คนที่มีมุมมองทางเพศที่ยืดหยุ่น

ใช้ภาษาที่ไม่แบ่งแยก เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับ

แม้ว่าเพศสภาพ (gender) และเพศวิถี (sexuality) จะไม่ได้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ของคุณ แต่การใช้ภาษาที่ไม่แบ่งแยกเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับลูกค้าก็จะช่วยให้กลุ่ม LGBTQ+ รู้สึกมีตัวตนและปลอดภัย ซึ่งนี่คือวิธีที่เว็บไซต์โรงแรมสำหรับคู่รักในอินเดียอย่าง StayUncle ที่มีตัวกรองการค้นหาสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะ นอกเหนือจากตัวกรองทั่วไปสำหรับคู่รักที่แต่งงานแล้วและยังไม่ได้แต่งงาน ฟีเจอร์นี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นหาโรงแรมที่ต้อนรับทุกคน ไม่ว่าวิถีทางเพศจะเป็นแบบใดก็ตาม

แบรนด์ควรใช้ภาษาที่ไม่แบ่งแยกในทุก Touchpoint ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือโฆษณา ตรวจสอบทุกคำโฆษณา การสื่อสาร และโฆษณาผ่านมุมมองของกลุ่ม LGBTQ+ และหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำพร่ำเพรื่อตามกระแส โดยไม่พิจารณาก่อนว่าผู้อ่านจะรู้สึกอย่างไร

แสดงออกถึงการสนับสนุน LGBTQ+ อย่างชัดเจน

ผู้บริโภคค้นหาเกี่ยวกับการไม่แบ่งแยกอย่างจริงจัง โดยการค้นหาคำว่า “LGBTQ+ friendly” (เป็นมิตรกับ LGBTQ) พุ่งขึ้นถึง 1200% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น แบรนด์จึงต้องทำให้ผู้คนรับรู้และค้นพบได้ง่ายๆ ว่าแบรนด์สนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ โดยแบรนด์ต่างๆ สามารถติดเครื่องหมาย “LGBTQ+ friendly” (เหมาะสำหรับ LGBTQ+) และ Transgender safe space (พื้นที่ที่ยอมรับบุคคลข้ามเพศ) ได้แล้วบน Google Business Profile ของตน

เมื่อแบรนด์พยายามทำความเข้าใจและปฏิบัติตามคำพูดที่ตนสื่อสารออกไปเพื่อสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ แบรนด์ก็จะมีบทบาทในการส่งเสริมการไม่แบ่งแยกมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะเป็นสิ่งที่ดีต่อแบรนด์เท่านั้น แต่ยังดีต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคนอีกด้วย

Scroll to Top