กสิกรไทยครองตำแหน่งในดัชนี DJSI ต่อเนื่อง 8 ปีซ้อน แบงก์แรกของไทย

กสิกรไทยครองตำแหน่งในดัชนี DJSI ต่อเนื่อง 8 ปีซ้อน แบงก์แรกของไทย

ธนาคารกสิกรไทยครองตำแหน่งในดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ ประจำปี 2566 หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เป็นธนาคารแรกของไทย ทั้งในระดับโลก (World) และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) โดยระหว่างปี 2565-2566 ธนาคารอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อความยั่งยืนไปแล้วราว 53,000 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าเชื่อมต่อภาคส่วนสำคัญในระบบนิเวศ เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนในระยะยาวแก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการด้าน ESG โดยกำหนดกลยุทธ์การทำงานที่เป็นระบบ เน้นการวัดผล และพัฒนาการดำเนินงานตามหลักการและมาตรฐานสากล และมุ่งหมายที่จะเป็นธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Becoming an ESG leader among banks in Southeast Asia) นำพาลูกค้าและธุรกิจไทยเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน เกิดเป็นผลการดำเนินงานบนหลัก ESG ที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดในปีนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ประจำปี 2566 หรือ  Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 2023 ทั้งในกลุ่มดัชนีระดับโลก DJSI World และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ DJSI Emerging Markets เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน (ปี 2559-2566) เป็นธนาคารแห่งแรกของไทย

กสิกรไทยสนับสนุนสินเชื่ออินโดรามา เวนเจอร์ส 3,000 ล้านเพิ่มปริมาณขวด PET  หลังการบริโภคที่ถูกอัดเป็นก้อนเพื่อนำไปรีไซเคิลให้ได้ 750,000 ตัน

สำหรับ DJSI 2023 ซึ่งเป็นการประเมินการจัดการที่ยั่งยืนขององค์กรในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจนั้น ในปีนี้ ธนาคารกสิกรไทยเป็น 1 ใน 27 ธนาคาร ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีด้านความยั่งยืนระดับโลก (DJSI World) และเป็น 1 ใน 16 ธนาคารที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีด้านความยั่งยืนกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) โดยธนาคารมีผลการดำเนินงานบนหลัก ESG  ที่สำคัญ ดังนี้

ด้านสิ่งแวดล้อม

ธนาคารได้ประกาศ Net Zero Commitment ในปี 2564 และเดินหน้าทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นธนาคารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากการดำเนินงานของธนาคาร (Scope 1 และ 2) เป็นศูนย์ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566  ได้มีการเปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 175 คัน และจะทยอยเปลี่ยนจนครบทั้งหมดก่อนปี 2573 การใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ และติดตั้งแผงโซลาร์ในพื้นที่ของธนาคาร ที่อาคารสำนักงานหลักและสาขา โดยตั้งเป้าจะทยอยติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ครบทุกสาขาที่เป็นพื้นที่ของธนาคาร  รวม 278 แห่ง ภายใน 2 ปีข้างหน้า การปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ ปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น และได้ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในอาคารสำนักงานหลักไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ สำหรับ 4 อาคาร ภายในปี 2566 นี้

สำหรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอ (Scope 3) จะสอดคล้องตามเป้าหมายของประเทศไทย ทั้งนี้ ธนาคารได้จัดทำแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) แล้ว จำนวน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มถ่านหิน และกลุ่มซีเมนต์ และเข้าไปทำงานอย่างใกล้ชิดกับธุรกิจในอุตสาหกรรมหลักเหล่านี้เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยวางแผนงานด้วยเครื่องมือและโซลูชันแบบเจาะลึกรายธุรกิจ ควบคู่กับการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจปรับตัว สอดรับกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมทั้งคว้าโอกาสที่เกิดขึ้น

อีกทั้ง ธนาคารได้พัฒนา Beyond Financial Solutions ที่เป็นมากกว่าบริการทางการเงิน  เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนได้ง่ายยิ่งขึ้น ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ สร้าง Green Ecosystem เกิดเป็น           โซลูชันเพื่อส่งเสริมเรื่องการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในภาคที่อยู่อาศัย ผ่านโครงการ “Solar Plus” การร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน “ปันไฟ” รวมทั้งการส่งเสริม EV Bike Ecosystem ด้วยโครงการ “WATT’s Up” ซึ่งเป็น e-Marketplace Platform ให้เช่าจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร พร้อมจุดบริการสลับแบตเตอรีในแหล่งชุมชน ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในวงกว้าง

นอกจากนี้ ธนาคารมีเป้าหมายสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing (Loan) and Investment) 1-2 แสนล้านบาท ภายในปี 2573 ซึ่งระหว่างปี 2565-2566 ธนาคารส่งมอบเม็ดเงินเพื่อความยั่งยืนไปแล้วประมาณ 53,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อสีเขียวสำหรับลูกค้าในไทยและภูมิภาค AEC+3 สินเชื่อเพื่อการประหยัดพลังงาน และเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งการลงทุนโดย บีคอน วีซี ผ่าน Beacon Impact Fund ที่มุ่งเน้นการลงทุนโดยตรงในบริษัทสตาร์ทอัพหรือผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุนทั่วโลก เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโซลูชันที่สร้างผลกระทบเชิงบวกพร้อมศักยภาพที่จะขยายผลต่อไป

ด้านสังคม

ธนาคารมีการดูแลในด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights) และสร้างการเข้าถึงทางการเงินและการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Inclusion and Literacy) การบริหารจัดการความแตกต่างหลากหลายในองค์กร การให้ความสำคัญในการดูแลพนักงานอย่างเป็นธรรม และการบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ โดยได้นำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีประสานความร่วมมือกับพันธมิตร ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงินและความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Financial and Cyber Literacy) นอกจากนี้ ธนาคารได้พัฒนาบริการเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้แก่คนไทยในวงกว้าง รวมถึงให้การสนับสนุนที่ไม่ใช่ทางการเงินและส่งเสริมความเป็นอยู่ทางการเงินของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และธนาคารได้ดำเนินโครงการ AFTERKLASS ที่ช่วยยกระดับทักษะด้านการเงิน อาชีพ และการเรียนรู้ ที่ตอบสนองความต้องการของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่

ด้านธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ

ธนาคารดำเนินการอย่างต่อเนื่องในด้านจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Business Ethics) จากการเปิดเผยผลงานของบริษัทที่มีมาตรฐาน ด้านการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศ ควบคู่กับการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ และด้านการจัดลำดับประเด็นที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและผลกระทบกับผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ นอกจากนี้ ธนาคารมีการพิจารณาสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป โดยเข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ครบทั้ง 100%

ขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารมีบทบาทในการเป็นต้นน้ำของระบบเศรษฐกิจ จึงมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบผลตอบแทนระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และด้วยตระหนักว่างานด้านความยั่งยืนต้องอาศัยการลงมือทำจากทุกคน ธนาคารจึงพร้อมจะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อภาคส่วนสำคัญในระบบนิเวศ ที่จะช่วยผลักดันการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ ให้สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง ช่วยให้ลูกค้าและประชาชนสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Economy) พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม บนแนวทางการทำงานที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสใหม่ๆ ไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวแก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

Scroll to Top