ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาราคาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีราคาสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็น พีซี โน้ตบุ๊ก หรือ สมาร์ทโฟน มีผลมาจากการขาดแคลนสินค้า ต้นทุนของวัตถุดิบสูงขึ้น และในปัจจุบันยังมีปัจจัยจากค่าเงินบาทไทยอ่อนลงเข้ามาเสริมทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นไปอีก
แต่ถึงแม้ราคาจะสูงขึ้นแต่ตลาดก็ยังเติบโตได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าพรีเมียม เกมมิ่ง หรือ โน้ตบุ๊กในระดับเริ่มต้น ด้านการแข่งขันกัน แบรนด์ต่างๆ ก็ยังงัดอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ออกมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด
ด้าน Lenovo หนึ่งในแบรนด์ที่มียอดขายติดอันดับต้นๆ ของตลาดพีซี และโน้ตบุ๊ก เดินหน้าเปิดตัวสินค้าใหม่เพื่อเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด และมีเป้าหมายขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในทุกเซ็กเมนต์
–เปิดตัว Lenovo Yoga รุ่นใหม่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผ่านดีไซน์การออกแบบ
–Lenovo เปิดตัว Legion 5i Pro และ Legion 5i เจนใหม่ เจาะกลุ่มลูกค้าที่ทำงานและเล่นเกมในเครื่องเดียว
วรพจน์ ถาวรวรรณ ผู้จัดการทั่วไปประจำพม่า ลาว กัมพูชา และผู้อำนวยการส่วนธุรกิจคอนซูเมอร์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ปีนี้เราตั้งเป้ารุกทุกทาง เราต้องการเป็นเบอร์ 1 ต้องชนะทุกตลาด ซึ่งเป็นที่มาของการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่มากมาย เราต้องมีความเข้าใจลูกค้าสายเกม มีผลิตภัณฑ์เข้ามาสนับสนุนตลาดพรีเมียม ต้องตอบโจทย์เหล่าครีเอเตอร์ ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจตลาด Mass ว่าเราให้ประสบการณ์แตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร”
วรพจน์ กล่าวต่อว่า ความแตกต่างของ Lenovo คือ การทำให้ผลิตภัณฑ์มีความฉลาด เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค โดยการใส่ซอฟแวร์ต่างๆ เข้าไป เช่น Smarter Education เพื่อรองรับการเรียนออนไลน์ มีเทคโนโลยีช่วยถนอมสายตา มีระบบ Noise Cancelation หรือ AI ที่เข้ามาช่วยเตือนคนทำงานที่นั่งหลังค่อมนานๆ
สำหรับตลาด Gaming ทาง Lenovo มีแผนการสร้างซับแบรนด์ขึ้นมาในอนาคต เพื่อตอบโจทย์เกมเมอร์ในกลุ่มเริ่มต้น กับกลุ่มที่เล่นเกมจริงจัง เล่นเป็นอาชีพ
ซึ่งจากกลยุทธ์ Lenovo จะช่วยให้แบรนด์ หนีออกจากการแข่งขันกับคู่แข่งที่มีผู้เล่นมากขึ้น ผ่านสร้างความแตกต่าง และหนีจากสงครามราคา เพราะการทำสงครามราคานั้นไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้
“เราจะต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่า ในไตรมาสที่ 3 นี้เราคาดหวังว่าจะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุด ทำให้เราทยอยเปิดตัวสินค้าในช่วงนี้อย่างมากมาย และเมื่อเราสามารถชนะได้ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ก็จะทำให้เราขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของประเทศ”
เดินหน้ารุกตลาดองค์กร หลังคนเริ่มกลับเข้าออฟฟิศ
สำหรับตลาดพีซีและโน้ตบุ๊กในกลุ่มลูกค้าทั่วไปในประเทศไทย Lenovo คาดการณ์ว่าจะเติบโตมากกว่า 10% มากกว่าที่ IDC คาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 7% แต่ที่น่าสนใจคือภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มกลับมาเติบโตอีกครั้งในรอบ 2 ปี
“ใน 2 ปีที่ผ่านมานั้น การจัดซื้อจัดจ้างหายไปมาก เพราะคนทำงานที่บ้านกันหมด ซึ่งปีนี้น่าจะกลับมาคึกคัก”
โดยหนึ่งในธุรกิจที่ Lenovo ให้ความสำคัญคือ บริการด้าน Solution And Service Business Group (SSG) ที่นำ พีซี โน้ตบุ๊ก ดาต้าเซ็นเตอร์ และระบบซอฟต์แวร์ มาผนวกกันให้เป็นโซลูชันใหม่ เช่น ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องการทำ Point of Sale (POS) สามารถใช้โซลูชันได้ตั้งแต่ การติดตั้งดาต้าเซ็นเซอร์ การเชื่อมสินค้าจากเชลฟ์ไปถึงเซิร์ฟเวอร์ในระบบหลังบ้าน เชื่อมไปถึงเครื่อง POS หรือเครื่อง PC ครบทั้งระบบนิเวศการทำธุรกิจค้าปลีก
นอกจากนี้ยังมีบริการ DaaS หรือ Device as a Services เป็นการเช่าใช้เครื่องซึ่งเป็นการนำเสนอรูปแบบใหม่ สำหรับลูกค้าองค์กร ที่ Lenovo เริ่มธุรกิจเมื่อปี 2021 ด้าน วรพจน์ กล่าวเสริมว่า เบื้องต้นบริการ DaaS ในประเทศไทยเป็นการให้ความรู้กับลูกค้า แต่ที่ผ่านมาได้ปิดโปรเจกต์ไปแล้วหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ส่วนในประเทศไทยยังมีลูกค้าไม่มาก
“เราเชื่อว่าภายใน 3 ปีนี้คนจะหันมาใช้ DaaS มากขึ้น เพราะการเช่าใช้นั้นลูกค้าจะได้เปลี่ยนเครื่องใหม่อยู่ตลอดเวลา ขณะที่ข้อมูลจะถูกปกป้องอย่างดี ทำให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลเรื่องการอัพเดทระบบปฏิบัติการใหม่หรือระบบรักษาความปลอดภัย และระยะยาวจะช่วยลดต้นทุนเรื่องการซื้ออุปกรณ์มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถเลือกบริการที่เหมาะสมกับธุรกิจตัวเองได้อีกด้วย”
สำหรับอีกหนึ่งตลาดที่คนให้ความสนใจกันมาก คือ สินค้าที่เข้ามาตอบโจทยการด้าน Metaverse ซึ่ง วรพจน์ กล่าวสั้นๆ ว่า ในปลายปีนี้จะได้เห็นผลิตภัณฑ์ ในกลุ่ม AR VR สินค้าที่ตอบโจทย์ในด้าน Metaverse ไม่ว่าจะเป็น แว่นตา เซ็นเซอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์ IoT ที่ใช้กับ Smart Home อีกด้วย