รู้จัก “LS index” เครื่องมือพยากรณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ จาก TCELS

รู้จัก “LS index” เครื่องมือพยากรณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ จาก TCELS

หลายคนมักจะได้ยินคำว่า “ดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรม” ที่นำมาใช้พยากรณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตสินค้า หรือการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อนำไปวางแผน กำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง แต่กับ ดัชนีอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ Life Sciences Index หรือ LS index ที่พัฒนาขึ้นโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) “TCELS” นั้นแตกต่างออกไป โดยจะเน้นไปในด้านนวัตกรรม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน รวมถึงการประเมินด้านความพร้อมของคน ด้านนวัตกรรมในระดับประเทศหรือไม่ มาตรฐานของโรงงาน

LS index คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ

แล้ว LS Index หรือ ดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์คืออะไร สามารถบ่งบอกอะไรได้บ้าง  

ไปยดา หาญไชยสุขสกุล รองผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS อธิบายว่า LS Index คือตัวเลขค่าหนึ่งซึ่งคำนวณมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ โดยสูตรที่พัฒนาขึ้นโดย TCELS ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเลขนี้จะสื่อความหมายว่า ถ้าหากปีใดมีเลขดัชนีนี้สูงก็หมายความได้ว่าอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์มีแนวโน้มในการเติบโตสูงขึ้น ซึ่งคำว่าอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ประกอบด้วย 4 อุตสาหกรรมย่อย คือ อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ อุตสาหกรรมการบริการทางการแพทย์และสุขภาพ

ปีใดที่ Index มีค่าสูง แสดงว่าปีนั้นอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์มีการเติบโตมาก

หากลึกลงมาอีกสักนิด จะอธิบายได้ว่า ตัวเลขดัชนีนี้มาจากสูตรคำนวณปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโต อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ 6 ปัจจัย จัดได้เป็น 3 กลุ่ม

  • กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่เป็นปัจจัยนำเข้า (Input Factors) 4 ปัจจัย
  • กลุ่มที่ 2 กลุ่มปัจจัยที่เป็นการผลิตของอุตสาหกรรม (Output Factors) 1 ปัจจัย
  • กลุ่มที่ 3 กลุ่มปัจจัยที่เป็นผลลัพธ์ของอุตสาหกรรม (Outcome Factors)

ซึ่งถ้าปีใดมีปัจจัยนำเข้ามาก ผลผลิตมาก ผลลัพธ์มาก ก็แสดงว่าอุตสาหกรรมเติบโตหรือมีมูลค่าสูงขึ้น

อีกหนึ่งดัชนีชี้วัด ที่สำคัญระดับประเทศ

ในยุคนี้ทุกอย่างแข่งขันกันที่ข้อมูล เพราะฉะนั้นการไม่มีข้อมูลทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์อะไรได้ การกำหนดนโยบาย ทิศทางก็จะกระจัดกระจาย

ซึ่งตัวเลข Index ในวันนี้ เกิดจากการรวบรวมข้อมูลย้อนหลังในแต่ละปีที่ผ่านมา โดยหลักการ คือการหาปัจจัยที่มีความสำคัญ และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ มาใช้ในการช่วยคำนวณและคาดการณ์แนวโน้ม

รู้จัก “LS index” เครื่องมือพยากรณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ จาก TCELS

ไปยดา หาญไชยสุขสกุล อธิบายเพิ่มเติมว่า TCELS เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลมอบให้ในการจัดทำและเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ให้กับรัฐบาล จึงมีแนวคิดในการจัดทำเครื่องมือในการทำนายอนาคตของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เพื่อจะได้ทราบว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับปัจจัยใดบ้าง

ข้อมูลที่ได้จะเป็นส่วนหนึ่งของ New S-Curve ที่เป็นเป้าหมายของประเทศ เพราะตัวเลขจะทำให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน ว่าประเทศมีความสามารถขนาดไหนเมื่อจะต้องแข่งขันกับต่างชาติ ก่อนจะกำหนดเป็นนโยบายเพื่อพัฒนาต่อไปได้ ด้านเอกชนเมื่อได้ข้อมูลภาพรวมว่าดัชนีของประเทศเป็นอย่างไร ก็จะนำไปวางแผนธุรกิจได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน

เล็งพัฒนาต่อยอด 4 อุตสาหกรรม

นอกเหนือจากการทำดัชนีอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายของประเทสแล้ว TCELS ยังนำงบประมาณในแต่ละปีเข้ามาสนับสนุนงานวิจัยกับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายงานนวัตกรรม หรือการทดสอบคุณภาพนวัตกรรม โดยใช้งบประมาณปีละ 200 ล้านบาท และส่วนที่ 2 คือ การส่งเสริมพัฒนางานผ่านการจัดโครงการ การยกระดับมาตรฐานรวมถึงการไปต่างประเทศ อีกประมาณ 200 ล้านบาทเช่นกัน

ไปยดา หาญไชยสุขสกุล ระบุว่า หลังจากเริ่มโครงการในปี 62 เป็นโครงการนำร่อง และเริ่มมีตัวเลขดัชนีในปี 65 จนมาถึงในปี 67 นี้ ได้เห็นภาพว่า อุตสาหกรรมใดที่มีความสามารถเป็นบวกและเป็นลบ โดยอุตสาหกรรมที่เป็นบวก จะได้รับการสนับสนุนทำให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนอุตสาหกรรมที่เป็นลบก็จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหา

สำหรับในปีนี้ TCELS ศึกษา 4 อุตสาหกรรม คือ เรื่องเภสัช เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องมือแพทย์ , และบริการทางการแพทย์ที่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม

อุตสาหกรรมที่มีความพร้อมที่สุดคือ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านสมุนไพร ที่มีจำนวนมาก และมีความหลากหลาย รวมถึงโรงงานผลิตมีมาตรฐานในระดับดี

จัดงาน TCELS Business Forum 2024 สร้างการรับรู้

ล่าสุด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดงาน TCELS Business Forum 2024: The Life Sciences Index as crucial guide for business development and industry advancement. โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างการรับรู้ถึงผลการศึกษาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยชี้ให้เห็นถึงทิศทางและปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ให้เกิดความเติบโต และเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ให้เป็นอุตสาหกรรมหลักของชาติในอนาคต 

ซึ่งนอกจากการรับรู้ผลการศึกษาแล้ว งานในครั้งนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ภาคเอกชน ทั้งนักลงทุนและนักธุรกิจ ได้พบปะกับนักวิชาการ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะสร้างเครือข่ายในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ร่วมกันในอนาคต 

“ทั้งนี้ บทบาทของ TCELS ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เรามุ่งเน้นไปที่ 3 เรื่อง คือ 1.Accelerating Innovations เร่งรัดขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นระดับของนวัตกรรมปลายน้ำ เพื่อเข้าสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม 2.Building conducive ecosystems คือการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนางานวิจัยชีววิทยาศาสตร์ โดยมุ่งตั้งแต่ระบบนิเวศกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ และ 3.Catalyzing & connecting partners คือกระตุ้นและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร เพื่อเชื่อมโยงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ เช่น บ่มเพาะผู้ประกอบการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ตลอดจนสามารถขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศได้” รองผู้อำนวยการ TCELS กล่าวทิ้งท้าย

ETDA เปิดข้อเงื่อนไข กฎหมาย DPS ที่ แพลตฟอร์มดิจิทัล ต้องทำก่อนเลิกให้บริการ พร้อมชี้ช่องรักษาสิทธิที่ ผู้ใช้ ต้องรู้

Scroll to Top