ปี 2021 เป็นปีที่ Metaverse ถูกพูดถึงอย่างไม่ขาดสาย จากการเปลี่ยนชื่อบริษัท Facebook เป็น Meta ที่ประกาศโดย “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” และยังส่งแรงกระเพื่อมของความคืบหน้าการพัฒนาแพลตฟอร์มออกมาอย่างต่อเนื่องผ่าน Facebook ส่วนตัว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา (ตามเวลาสหรัฐฯ) Meta ก็ได้ประกาศเปิดให้คนในสหรัฐฯและแคนาดาที่อายุ 18 ปีขึ้นไป เข้าไปทดลองเล่น Horizon Worlds ผ่าน Oculus ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทและตัวมาร์ก ที่ต้องการผลักดันโลก Metaverse ออกมา
–ภาคธุรกิจโคราชรุก METAVERSE เตรียมเปิดเมืองดิจิทัลไตรมาสแรกปีหน้า
–Metaverse โลกที่ต้องการเครือข่ายระดับ Multi-Terabit
สิ่งที่ทำได้ใน Horizon Worlds ของเวอร์ชันนี้ เช่น การสร้างพื้นที่ด้วยตัวเอง (คล้ายกับการเล่น Minecraft) เล่นเกมยิงปืน เกมโยนลูกบอล โดยสามารถเล่นกับผู้เล่นคนอื่นได้มากถึง 20 คนพร้อมกัน
แต่จากที่ได้ดู YouTuber บางคนสตรีมการอยู่ในโลก Horizon Worlds ก็พบว่ายังมีอีกหลายเรื่องต้องพัฒนา ปรับปรุง
ซึ่งในช่วงปล่อยให้ทดลองนี้ทาง Meta เองก็น่าจะทยอยรวบรวม Feedback ไปเรื่อยๆ เพื่อหาความสมดุลของการใช้งาน รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ออกมาสมบูรณ์มากที่สุดอีกด้วย เพราะเพียงแค่เปิดให้ทดลองไม่กี่วัน ก็เกิดดราม่าเรื่องความปลอดภัย กับความเป็นส่วนตัว เพราะในโลก Metaverse นั้นก็เหมือนกับโลกโซเชียลที่คนไม่รู้จักกันมีโอกาสจะเข้ามาทัก
เพราะเมื่อคุณใส่แว่น VR และไปเจอกับคนแปลกหน้า มันแตกต่างจากการดูหน้าโปรไฟล์ผ่าน Facebook อย่างสิ้นเชิง เพราะคนแปลกหน้านั้น สามารถเดินเข้ามาหาคุณได้ ถ้าอยู่ใน Channel เดียวกัน ในพื้นที่เสมือนเดียวกัน กรณีที่เกิดขึ้นคือ มีผู้ใช้รายหนึ่งเดินเข้ามา และทำท่าทางล่วงละเมิดทางเพศใส่ผู้ใช้อีกรายหนึ่ง ซึ่ง Facebook เองก็จะต้องแก้ปัญหาในส่วนนี้อย่างเร่งด่วน
ส่วน Avatar จะเห็นว่าตัวที่ให้ทดลองเล่นนี้มันยังไม่มีขา ซึ่งเร็วๆ เชื่อว่าจะมีขางอกออกมา รวมถึงกราฟิกที่จะค่อยๆ ดูสมจริงขึ้นทีละนิด ในปีต่อๆ ไป ซึ่งปัญหาหลักของการทำให้ภาพสวย และเล่นได้อย่างลื่นไหล คือเรื่องฮาร์ดแวร์ และอินเทอร์เน็ตที่เร็วมากพอ
การพัฒนาฮาร์ดแวร์อย่างแว่น VR ที่รองรับกราฟิกที่ดีมากยิ่งขึ้น น้ำหนักเบาลง ช่วยให้ใส่ได้นานขึ้น ดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะปัญหาหลักคือการจัดการเรื่องความร้อนที่จะเกิดขึ้นจากการใช้งานกราฟิกหนักๆ ซึ่งถ้าดูจากคลิปที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ปล่อยออกมาว่าทิศทางของ Meta จะทำอะไรได้บ้าง ก็จะเห็นว่า มาร์ก เองก็วาดฝันกับโลก Metaverse ที่กำลังพัฒนาอยู่ไว้สูงมาก
ส่วนเรื่องเครือข่ายที่สามารถรองรับคนมากกว่า 20 คน ใน 1 ห้องนั้น เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่หนักหน่วง เพราะบริษัทอาจจะต้องขยายเซิร์ฟเวอร์ให้รองรับคนจำนวนมากๆ ต่อ 1 ห้อง ในโลก Metaverse ได้
ซึ่ง ทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์กับ Biztalk ไว้ว่า โลก Metaverse นั้นคือการที่มี Avatar (ตัวแทนตัวตนในโลกเสมือน) แบบ 3 มิติ ในอีกโลกหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เครือข่ายในระดับ Multi-Terabit PER Second (มากกว่า 1000 Gbps) เพื่อประมวลผลข้อมูล
ปัจจุบัน Cisco กำลังทดลองเครือข่ายระดับ 800 Gbps แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นของการทำ Super Real Image ได้ เพราะฉะนั้นกว่าจะเป็นโลกเสมือนที่ทุกอย่างเหมือนกับโลกจริง จะต้องใช้เครือข่ายมหาศาล และผู้ให้บริการทุกที่จะใช้เครือข่าย แค่ 400 Gbps ไม่ได้ แต่จะต้องใช้ระดับ Multi-Terabit ในการทำ ซึ่ง คุณทวีวัฒน์ มองว่าอาจจะต้องใช้เวลา 3-5 ปี ถึงจะมีความพร้อม
ก็ต้องมาดูกันว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะพัฒนาฮาร์ดแวร์และขยายเน็ตเวิร์กได้เร็วขนาดไหน
ประเทศไทยกับการไล่ตามโลก Metaverse
สำหรับประเทศไทย ต้องถือว่าเป็นประเทศที่ไม่เคยตามหลังใครเรื่องการรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และการศึกษาหาความรู้กับเทรนด์ใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เห็นทั้งภาครัฐและเอกชน ตื่นตัวกับโลก Metaverse กันอย่างมาก และเปิดตัวไปแล้วหลายๆ โปรเจกต์ ทั้ง Metaverse Thailand ที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายที่ดิน SCB 10X ที่จะไปตั้งสำนักงานใหญ่ใน Sandbox หรือบริษัทอย่าง MQDC ที่ประกาศตัวนำอสังหาฯ เข้าสู่โลก Metaverse อย่างเต็มตัวเช่นกัน
ด้าน RadarsPoint ของ StockRadars ก็มีแผนจะนำ Bitcoin Gift Card ไปทดลองขายในโลก Metaverse
“เราอยากลองดูว่าจะมีคนสนใจหรือไม่ ถ้าเราจะขาย Gift Card ในโลก Metaverse เพราะมันเป็นโลกใหม่มากๆ และเราไม่รู้ว่ามันยากขนาดไหน ซึ่งเราก็ทดลองเปิดร้านค้าดู และให้คนจริงๆ เข้าไปอยู่ในโลกเสมือน เราอยากรู้ว่าจะมีคนเข้ามาในโลกเสมือนเพื่อซื้อสินค้าหรือไม่” ธีระชาติ ก่อตระกูล CEO และผู้ก่อตั้ง StockRadars กล่าว
ด้าน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มีก็แผนจะสนันสนุนสตาร์ทอัพสาย DeepTech ที่เข้ามาพัฒนาโลก Metaverse ในปี 2022 เช่นกัน
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวกับ BizTalk ว่า หลายคนอาจจะมองว่า Metaverse เป็นแพลตฟอร์ม แต่จริงๆ มันเป็นมากกว่านั้น ปัจจุบันเทคโนโลยีมันมาแล้ว แต่ถ้าเป็นโลก Metaverse ที่ให้คนเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมาก ให้ AI และบล็อกเชน สามารถประมวลผล สามารถทำ Digital Asset ที่เป็น 3 มิติ ภายในนั้นได้ จะยังยากอยู่
ตอนนี้ความสำคัญของ Metaverse เป็นเรื่องคอนเทนต์ เราจะเห็นว่า Facebook เข้ามาเร่งทำ เพราะเขาจะต้องเร่งทำเรื่อง Monetization กับผู้ใช้งาน แต่คนบางกลุ่มเขาไม่ได้มอง Metaverse เป็นเรื่องของการสร้างรายได้ แต่เป็นโลกความจริงเสมือนของคนที่เขาเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในอีกโลกหนึ่งได้เลย ซึ่งจะมีผลกระทบมากกว่าสิ่งที่ Facebook พยายามจะทำที่เป็นเรื่องธุรกิจ
ส่วนผู้ประกอบการด้านโครงข่ายอย่าง AIS ก็เตรียมความพร้อมด้านความเร็วอินเทอร์เน็ต เพื่อรองรับโลก Metaverse เช่นกัน ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัวเน็ตบ้านความเร็ส 2Gbps ไปหมาดๆ
“วันนี้ AIS ทำเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับโลก Metaverse ให้ไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งเรามีความแข็งแรงและมีเครือข่ายครอบคลุม การขยายเครือข่ายให้ผู้ใช้ได้ใช้อินเทอร์เน็ต ในระดับ Gbps ตรงนี้ไม่ต้องเป็นห่วง ปัจจุบันเราถูกถามว่าเราจะขยายไปทำไมมากมาย เพราะมันไม่มีความจำเป็น แต่เราต้องทำเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าว
นอกจากนี้ยังมี Metaverse กับด้านการศึกษา ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้เปิดศูนย์ KMITL Interactive Digital Center รองรับการศึกษาในรูปแบบ AR VR ในอนาคต เป็นโครงการที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในสมัยที่ยังนั่งตำแหน่ง อธิการบดี สจล. ได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อให้นักเรียน-นักศีกษา ได้เข้าถึงการเรียนรู้ผ่านโลกเสมือน เช่น คณะแพทย์ และคณะทันตแพทย์ สามารถฝังรากฟันเทียบ โดยใช้อุปกรณ์เสมือนจริงได้ สามารถทดสอบการผ่าตัดเสมือนจริงได้ ก่อนจะลงมือทำ เป็นการดิสรัปต์การศึกษาด้วยเทคโนโลยี AR VR
ทั้งนี้ ถึงแม้ทั่วโลกจะตื่นตัวกับ Metaverse กันมาก แต่ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร เช่นเดียวกันการเกิดของโลกอินเทอร์เน็ตในยุคแรก ที่ไม่มีใครคิดว่าจะเดินทางมาถึงทุกวันนี้ แพลตฟอร์ม Metaverse บางแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาอาจจะได้ไปต่อ แต่บางแพลตฟอร์มก็อาจจะไม่เป็นที่นิยมในอนาคตถึงแม้จะลงทุนไปมาก ก็เป็นไปได้