จากแพชชั่นส่วนตัวเมื่อทำอาชีพแอร์โฮสเตสที่ต้องดูแลตัวเองมาก ใช้เวลาศึกษาวิธีการรักษาสุขภาพ การควบคุมน้ำหนัก การเลือกอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงการบริโภคโปรตีนจากพืช หรือ Plant-based และเมื่อได้ศึกษา ได้ลองทาน จึงตัดสินใจเข้ามาทำธุรกิจ Plant-based ภายใต้ชื่อแบรนด์ More Meat
มินนี่ – กัญญ์วรา ธนโชติวรพงศ์ CEO / Co-Founder บริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด กล่าวว่า ปัญหาของคนไทย คือ ต้องการอาหารที่ช่วยรักษาสุขภาพ ช่วยลดคอเลสเตอรอล แต่คนบางกลุ่มไม่ชอบทานผัก ซึ่ง Plant-based หรือ โปรตีนจากพืชเข้ามาตอบโจทย์ได้ เพราะอาหารจากพืชไม่มีคอเลสเตอรอล และยังมีรสชาติที่ดี จึงอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับช่องว่างตลาดตรงนี้ หลังจากกลับมาที่ไทยและได้มีโอกาสทำงานร่วมกับพี่ชาย ก็เห็นว่ายังมีช่องว่างของนวัตกรรมอาหารอีกมาก จึงเริ่มต้นจากการเป็นดิสทริบิวเตอร์ นำอาหารจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทย เมื่อทำมาสักระยะก็เห็นว่าสินค้าจากต่างประเทไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การทานอาหารของคนไทย
“เราพบว่าการเป็นเพียงดิสทริบิวเตอร์ ไม่สามารถเข้ามาตอบโจทย์ช่องว่างตรงนี้ได้ จึงตัดสินใจลงมือศึกษาการพัฒนาอาหารจากพืชด้วยตัวเอง จนมาตั้งบริษัทสตาร์ทอัพและสร้างแบรนด์ More Meat ขึ้นมา”
กัญญ์วรา กล่าวต่อว่า การเข้ามาเป็นสตาร์ทอัพ นอกจากจะเข้ามาช่วยผู้บริโภคปลายทางได้แล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรที่เป็นต้นน้ำได้อีกด้วย เช่นการใช้เห็ดแครง ที่ชาวบ้านเรียกว่าเห็ดตีนตุ๊กแก เป็นเห็ดท้องถิ่นทางภาคใต้ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เป็นเห็ดที่โตบนต้นยาง มีคุณท่าทางโภชนาการดีมาก และมีเนื้อสัมผัสคล้ายกับเนื้อสัตว์
“เราจึงเข้าไปร่วมงานกับพาร์ทเนอร์ท้องถิ่น สร้างเป็นอาชีพเสริม ผ่านการพัฒนาการปลูกเห็ดแครงโดยใช้โรงเรือน”
–NIA ผนึกกำลัง AIEAT เปิดรับดีพเทคสตาร์ทอัพด้าน ARI-Tech สู่การขยายตลาดเติบโตแบบก้าวกระโดด
–ไทยยูเนี่ยน เดินหน้าธุรกิจด้วยนวัตกรรม FoodTech และการสร้างความยั่งยืนครบวงจร
สตาร์ทอัพไทยผสานนักวิจัยไทย
ถึงแม้ว่า กัญญ์วรา จะมีประสบการณ์กับอุตสาหกรรมอาหารจากการได้ช่วยธุรกิจครอบครัวมาบ้าง แต่การก้าวมาเป็นผู้ประกอบการอาหาร Plant-based นั้นยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่และยากมาก
“เราไม่ได้มีพื้นหลังด้านการทำงานวิจัยอาหารมาก่อน และจากการที่ได้ทดลองทำเอง พบว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เราจึงมองหาคนเข้ามาช่วย”
กัญญ์วรา ได้เริ่มติดต่อนักวิจัยทั้งจากอเมริกา และยุโรป ที่มีการรับทำเรื่องงานวิจัยเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็ได้คุยกันวิจัยในไทยด้วย ก่อนจะตัดสินใจทำงานกับนักวิจัยไทย ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาศึกษาและพัฒนานานกว่าการจ้างนักวิจัยต่างประเทศ
“ในฐานะสตาร์ทอัพไทย เราอยากเปิดโอกาสให้กับนักวิจัยไทยได้สร้างนวัตกรรมเป็นของตัวเอง ได้ใช้จินตนาการและประสิทธิภาพของทีมนักวิจัย ซึ่งเราก็ใช้เวลาเกือบ 1 ปีเพื่อพัฒนาออกมาเป็น More Meat”
“ปัจจุบันเราได้ลูกศิษย์ของอาจารย์ที่เป็นนักวิจัย เข้ามาร่วมงานกับเราถึง 2 คน ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้เพิ่มมูลค่าให้กับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอาหารไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ” กัญญ์วรา กล่าวเสริม
เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ มองหาผู้มีวิสัยทัศน์ตรงกัน
ถึงแม้ว่า กัญญ์วรา จะเป็น CEO ของบริษัท มอร์ฟู้ดส์ แต่ก็ไม่มีประสบการณ์การทำธุรกิจด้วยตนเองมากก่อน จึงมองหาโครงการต่างๆ เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงการทำธุรกิจ ทั้ง True Incube และ SPACE-F ที่ ไทยยูเนี่ยน ทำร่วมกับ ม.มหิดล
“การร่วมโปรแกรม Incubator เหล่านี้ช่วยเสริมให้เราเข้าใจการทำธุรกิจมากขึ้น และเปิดโอกาสให้เราเจอกับเครือข่ายทั้งผู้ประกอบการต่างชาติและนักวิจัย ที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เรามากขึ้น”
กัญญ์วรา กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน More Meat มีบริษัทเข้ามาร่วมลงทุน 1 ราย คือ บริษัทวีฟู้ดส์ ประเทศไทย ที่ได้เจอกันในวัน Demo Day ของงาน SPACE-F ซึ่งหลังจากได้มีโอกาสพูดคุยกับประธานบริษัท พบว่ามีวิสัยทัศน์ที่คล้ายกัน จึงเข้ามาร่วมงานกัน โดยวีฟู้ดส์ได้เข้ามาช่วยในด้านการนำสินค้า More Meat เข้าไปขายในซูเปอร์มาเก็ต ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ ทำให้บริษัทมีช่องทางในการขายสินค้ามากขึ้น
นอกจากนี้การระดมทุนในรอบ Seed Round ล่าสุดมีนักลงทุนของสิงคโปร์เข้ามาพูดคุยด้วย ซึ่งในรอบนี้บริษัทต้องการเงินลงทุนประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจะนำมาใช้ในการสเกลธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น รวมถึงสร้างไลน์ผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ
สำหรับไทยยูเนี่ยนเป็นอีกหนึ่งพาร์ทเนอร์เชิงกลยุทธ์ “Strategic Partner” มีการทำการตลาดร่วมกันภายใต้แบรนด์ OMG Meat ซึ่งเป็น Seafood Alternative โดยใช้ Plant-based
“เราอยากจะทำงานกับคนที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน และสามารถช่วยเราในด้านยุทธศาสตร์ รวมถึงส่งเสริมในด้านอื่นๆ ซึ่งเราได้จดทะเบียนบริษัทไปที่สิงคโปร์ด้วยเพื่อที่จะเป็นอีกช่องทาง สำหรับให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนกับเรา”
เติบโตได้แม้เกิดวิกฤติ เตรียมขยายธุรกิจหลังทุกอย่างคลี่คลาย
บริษัท มอร์ฟู้ดส์ นั้นเริ่มวิจัยผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ปี 2018 ก่อนจะเริ่มธุรกิจในปี 2019 ซึ่งหลังจากเริ่มธุรกิจได้ไม่นานก็ต้องพบกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องปรับแผนเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
กัญญ์วรา กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมาบริษัทต้องปรับตัวเยอะมาก จากที่เคยวางแผนจะทำธุรกิจแบบ B2B แต่เมื่อเกิดวิกฤต ลูกค้าที่เป็น Food Service ต้องชะงักไป บริษัทจึงปรับแผนมาทำตลาดแบบ B2C ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่บริษัทเข้ามาร่วมงานกับวีฟู้ดส์ นอกจากนี้การทำธุรกิจ Plant-based ในช่วงวิกฤติ ยังเป็นประโยชน์กับบริษัท เพราะผู้บริโภคเข้ามาศึกษาเรื่องอาหารสุขภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจ Plant-based และเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น
“ในปีนี้เราก็มีแผนจะ การนำสินค้าเข้าไปในร้านอาหาร โรงแรม เพราะการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคักแล้ว ซึ่งงาน THAIFEX ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาเยอะมาก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการทำธุรกิจหลังจากนี้”
กัญญ์วรา กล่าวต่อว่า สำหรับแผนใน 3-5 ปี ในเฟสแรกบริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปในเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์หรือมาเลเซีย ก่อนจะขยายไปครอบคลุมประเทศในเอเชีย และใน 5 ปี บริษัทคาดหวังว่าจะมีสินค้าครอบคลุมในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และหลังจากนั้นจะเริ่มวางแผนเข้าตลาด (IPO) หรือการ Exit
“ถึงแม้จะเป็นความฝันที่ไกล แต่เราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด ซึ่งปัจจัยที่เราจะไปถึงตรงนั้นได้ เรามองว่าการดำเนินธุรกิจของเรา เรามีเป้าว่าจะไปอยู่ตรงไหน จะต้องทำงานอย่างโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเรื่องการทำโครงสร้างบริษัทให้นักลงทุนอยากเข้ามาลงทุน และอีกส่วนคือการทำงานที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก”
ในช่วงท้าย กัญญ์วรา ยังฝากถึงสตาร์ทอัพรุ่นน้องว่า “ส่วนตัวมองว่าจุดที่ยากที่สุดไม่ใช่วิกฤติ แต่เป็นการเริ่มต้น เพราะหลายๆ คนส่วนมากอยากจะสร้างธุรกิจหรือสตาร์ทอัพแต่กลับไม่เริ่มลงมือทำ ซึ่งการที่เราตัดสินใจเริ่มมันทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้ ถ้าเรามัวแต่รอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ มีแผนที่ดีมากๆ สุดท้ายเราก็อาจจะต้องปรับรูปแบบธุรกิจเพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น More Meat เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจ Plant-based แรกๆ ของไทย และได้ช่วยเหลือกันกับสตาร์ทอัพรายอื่นๆ สร้างตลาด เพราะฉะนั้นถ้ามีไอเดีย อย่ารอ แต่ให้ลงมือทำเลย และค่อยๆ เรียนรู้ โดยการเข้าโครงการต่างๆ คุยกับผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ถ้ามีปัญหาก็ออกไปหาความช่วยเหลือ อย่าไปกลัวผู้ประกอบการรายอื่น ลงมือทำและทำให้ดีที่สุด เพราะการที่เราเริ่มได้คือจุดที่ยากที่สุดแล้ว”